คอลัมน์ : สวัสดีวันจันทร์
โดย วีระ มุสิกพงศ์
“...เป็นห่วงว่า หลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ จะยิ่งเกิดความรุนแรงมากขึ้น ในส่วนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเองก็ดี ในแง่ให้ข้อมูลตรวจสอบรัฐบาล แต่วิธีการบางครั้งก็ไม่ถูกต้อง ข้อเสนอการเมืองใหม่ก็ยังไม่ชัด ระบบ 50 : 50 ที่เสนอมา ก็ไม่มีหลักประกันการบล็อกโหวต และถ้าจะเอาการเมืองใหม่แล้วไม่แก้รัฐธรรมนูญก็ต้องปฏิวัติ...”
ใครต่อใครเป็นกลุ่มบุคคลบ้าง เป็นปัจเจกบุคคลบ้าง ต่างก็ออกมาเสนอทางออกให้แก่สังคมไทยกันมากแล้ว บางวิธีก็ตกไปเพราะไม่มีใครยอมรับ บางวิธีกำลังมีการดำเนินการกันอยู่ บางวิธีกำลังถูกขับเคลื่อนทั้งที่เห็นทางตันอยู่ข้างหน้า
ลองมาพิจารณาวิธีออกจากปัญหาของสมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่งดูสักหน่อย ในฐานะที่เขาเสนอเป็นแนวความคิดส่วนตัว
สมาชิกวุฒิสภาคนที่ว่าชื่อ นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ซึ่งตามข่าวระบุว่าเป็น ส.ว.สรรหา แต่ไม่ทราบสาขาอาชีพ
ส.ว.วิชาญ อารัมภบทว่า ปัญหาวิกฤติการเมืองในขณะนี้ กลุ่มต่างๆ ได้ปลุกเร้าประชาชนออกมา ฝ่ายหนึ่งปลุกประชาชนที่ได้ผลตกค้างจากนโยบายประชานิยม อีกฝ่ายปลุกประชาชนที่รู้ทันนักการเมืองทุจริตเอื้อประโยชน์พวกพ้อง ส่วนฝ่ายสภาก็เสนอทางออกที่ไม่เป็นทางออก มีแต่ประณามสิ่งที่เห็นว่าไม่ดี
ตนเป็นห่วงว่า หลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพ จะยิ่งเกิดความรุนแรงมากขึ้น ในส่วนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเองก็ดี ในแง่ให้ข้อมูลตรวจสอบรัฐบาล แต่วิธีการบางครั้งก็ไม่ถูกต้อง ข้อเสนอการเมืองใหม่ก็ยังไม่ชัด ระบบ 50 : 50 ที่เสนอมา ก็ไม่มีหลักประกันการบล็อกโหวต และถ้าจะเอาการเมืองใหม่แล้วไม่แก้รัฐธรรมนูญก็ต้องปฏิวัติ ซึ่งถือว่าพันธมิตรฯ ปิดประตูตัวเอง
ส่วนรัฐบาลก็จะแก้รัฐธรรมนูญ คนก็ไม่ไว้ใจ ส่วนถ้านายกรัฐมนตรียุบสภา รัฐบาลก็คงชนะเลือกตั้งอีก เพราะได้รับผลตกค้างจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ จึงไม่ใช่เรื่องที่คู่ขัดแย้งอยากเห็น หากเปลี่ยนขั้วรัฐบาล เสื้อแดงคงออกมายึดทำเนียบ ถ้าทหารออกมาก็ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา ส.ว.วิชาญ จึงขอเสนอทางออก 9 ข้อเพื่อเป็นทางออกจากวิกฤติคือ
1.รัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญเฉพาะมาตรา 171 วรรคสอง ให้นายกฯ ไม่ต้องมาจาก ส.ส. และมาตรา 291 เพื่อโอกาสให้มีการตั้ง สสร.3
2.นายกฯ ต้องเสียสละด้วยการลาออก
3.สภาเลือกคนภายนอก ที่เหมาะสม และทุกฝ่ายยอมรับเป็นนายกรัฐมนตรี ชั่วคราวเพื่อบริหารประเทศ ซึ่งมีโอกาสที่จะได้คนที่สังคมยอมรับ ซึ่งในประเทศไทยยังมีคนทำได้หลายคน และพร้อมเสียสละจะเข้ามา เพราะหากมองดู ส.ส. 480 คน เป็นไปได้ยากที่ทุกฝ่ายจะยอมรับในนั้นเป็นนายกฯ ได้ ส่วนการตั้งรัฐมนตรีให้ตั้งจากผู้เชี่ยวชาญที่ตรงสาขา เพราะรัฐบาลที่ผ่านมา 2 ชุด ตั้งคนไม่ตรงกับงาน
4.มีการสรรหา สสร.3 เพื่อแก้หรือจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่
5.พันธมิตรฯ และกลุ่มต่างๆ ยุติการชุมนุม และรัฐบาลขอพระราชทานอภัยโทษให้ตามนโยบายสมานฉันท์
6.รัฐบาลปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการอย่างอิสระกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โดยไม่แทรกแซง และไม่พยายามช่วยเหลือด้วยการขอพระราชทานอภัยโทษ หรือออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะเป็นความผิดส่วนบุคคล และต้องทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์
7.กรณีที่รัฐบาลทำผิดกฎหมายในช่วงที่ผ่านมา เช่น เหตุการณ์ 7 ตุลาคม ก็ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม
8.เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้แล้ว นายกฯ ก็ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ทันที
9.ทุกฝ่ายต้องช่วยกันให้ประเทศกลับสู่สภาวะนิติรัฐโดยเร็ว เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม ความเชื่อมั่น และการพัฒนาที่ยั่งยืน
ข้าพเจ้าไม่รู้จักนายวิชาญเป็นส่วนตัว จึงไม่ทราบว่ามีพื้นฐานการศึกษามาจากสถาบันใด แขนงใด ระดับใด แต่พอจะเห็นว่าเป็น ส.ว. มาจากการสรรหาก็สิ้นศรัทธาเสียแล้วในเบื้องต้น
แต่เนื่องจาก ส.ว.สรรหา นี้มีที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเป็นผลิตผลของเผด็จการ ข้าพเจ้าจึงเห็นความจำเป็นต้องขอวิพากษ์วิจารณ์เพื่อชี้ให้เห็นว่า สมุนเผด็จการทั้งหลายนั้นเขามีวิสัยทัศน์และมีทัศนคติอันเป็นภัยต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเพียงใด
ข้อเสนอทั้ง 9 ข้อนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่ามีข้อที่ 9 เพียงข้อเดียวเท่านั้นที่ใช้ได้ นอกจากนั้น จากข้อ 1-8 เป็นเรื่องเหลวไหล ไม่ได้สติทั้งสิ้น
สำหรับข้อที่ 9 ที่ว่าใช้ได้นั้นไม่ใช่เพราะเหตุอื่น หากเป็นเพราะข้าพเจ้าได้ยิน ได้ฟัง และได้เห็นคนไทยทุกเพศ ทุกวัย พูดจาไปในทำนองเดียวกันนี้แทบทั้งนั้น
สำหรับข้อเสนอข้อ 1-8 ที่ข้าพเจ้าว่าไม่ได้สตินั้น ข้าพเจ้าถือเอาหลักประชาธิปไตยเป็นมาตรวัด ไม่ได้ถือเอาความรู้สึกตัวเองเป็นบรรทัดฐาน ข้อเสนอข้อ 1 ให้แก้รัฐธรรมนูญให้นายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. นั้น ถึงอย่างไรข้าพเจ้าก็ไม่สามารถจะเห็นด้วยได้ เพราะนี่คือสิ่งที่สวนทางกับข้อเรียกร้องที่มวลชนพฤษภาทมิฬ 2535 เคยเรียกร้องต่อรัฐบาลของเผด็จการ รสช. มา โดยมี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้นำคนสำคัญ
วันนี้ พล.ต.จำลอง เปลี่ยนความคิดไปเอาอย่าง ส.ว.วิชาญ แล้ว แต่ข้าพเจ้า ร.ต.ฉลาด วรฉัตร และนักประชาธิปไตยทั้งหลายยังยืนอยู่จุดเดิม
ข้อ 2 เรียกร้องให้นายกฯ ปัจจุบันเสียสละด้วยการลาออก ข้าพเจ้าเห็นว่าข้อเรียกร้องนี้ตรงกับข้อเรียกร้องของ โจรกบฏ ที่อยู่ในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งไม่มีเหตุผลที่นายกฯ จะต้องทำตาม เพราะนายกฯ คนนี้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามกฎเกณฑ์ กติกา และยังไม่มีเหตุผลที่จะต้องลาออกในตอนนี้เพื่อการนี้
ข้อ 3 ให้สภาเลือกนายกฯ คนใหม่ จากคนนอกที่มีความเหมาะสม และทุกฝ่ายยอมรับ
ข้อนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าตลกและเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีคนชนิดนี้อยู่ในสังคมไทย มีแต่คนที่ ส.ส. เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเขาเห็นชอบเท่านั้น การถวิลหาคนนอกคือความคิดอันเป็นซากเดนของ ศักดินา และ อำมาตยาธิปไตย น่าอัปยศอดสู
พูดมาเพียงเท่านี้ก็หมดอารมณ์ที่จะพูดต่อเสียแล้ว เพราะไม่มีข้อใดสอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตยเลย คนเราถ้าลองไม่ศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตยเสียแล้ว ก็เท่ากับสละศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
แต่นั่นแหละ จะไปหวังอะไรจากท่านเล่าในเมื่อท่านเป็น ส.ว. มาจากการ ลากตั้ง เรียกว่า ส.ว. สายพันธุ์เผด็จการ ไอ้ข้าพเจ้าก็ดันหลงพาท่านผู้อ่านไปเสียเวลาอ่านและวิจารณ์อยู่เป็นนานสองนาน
กรรมของไอ้หวังแท้ๆ