WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Sunday, May 11, 2008

เรียนรู้ ‘ไฟใต้’ บนเงื่อนไขเก่า/กลาง/ใหม่ แล้ว ‘แลไปข้างหน้า’ (1)

ตอนนี้สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ล่วงมาถึงปีที่ 4 แล้ว แม้ว่ากระแสข่าวจะดูเงียบหายไปหรือน่าหวั่นวิตกน้อยลงในการรับรู้ เมื่อเปรียบกับปีแรกของเหตุการณ์แล้ว ที่สังคมค่อนข้างตื่นตัวกว่ามากจนแทบกลายเป็นเงื่อนไขล้มรัฐบาลในขณะนั้นได้เลยทีเดียว

แต่สิ่งที่ซ่อนลึกๆ อยู่ในความเงียบ บางครั้งกลับน่ากลัวกว่า การฆ่ารายวันยังคงมีต่อเนื่องบนการรับรู้ที่ชินชา สลับไปกับเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่สามารถยึดหน้าสื่อได้ในบางครั้ง ตามมาด้วยเสียงก่นด่าสาปแช่งไม่กี่วัน แล้วก็ต้องกลับไปหวั่นในทรวงกับการเมืองในส่วนกลางที่ร้อนแรงไม่แพ้กัน

อย่างไรก็ตาม การทบทวนความรู้ความเข้าใจในเรื่อง 3 จังหวัดภาคใต้ ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น ทหารกลายเป็นเรื่องปัจจัยใหม่ในบรรยากาศปัจจุบันบนพื้นที่ นำมาสู่เงื่อนไขใหม่ท่ามกลางความบอบบางทางอารมณ์ ความรู้สึก หรือหากมองจาก

ปัจจุบันขณะไปสู่ มีเด็กจำนวนมากกำลังเติบโตขึ้น แต่บรรยากาศแบบนี้จะทำให้เด็กๆ โตขึ้นไปเป็นแบบใด ในขณะที่เงื่อนไขมาจากอดีตอย่างเรื่องวัฒนธรรม ก็ยังคงส่งผลมากมายในปัจจุบันเช่นกัน เหล่านี้ยังไม่หยุดนิ่ง เกี่ยวข้องและดำเนินไปกับสถานการณ์อย่างซับซ้อน หากขาดองค์ความรู้แล้ว การมองหาจุดสิ้นสุดของปัญหาหรือแม้แต่การอยู่ร่วมกับปัญหาคงเป็นเรื่องยาก

เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรและศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา ได้จัดสัมมนาโครงการวิจัย “อนาคตไฟใต้ สื่อ ทหาร เด็กและทักษะวัฒนธรรม” ขึ้นเพื่อตั้งคำถามกับประเด็นที่สำคัญต่อปัญหาภาคใต้ในหลากมิติ ‘ประชาไท’ เก็บความนำเสนอ

ไฟใต้ในสายตา ‘สื่อเทศ’

จากสถานการณ์ภาคใต้ระลอกใหม่ ที่เริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส วันที่ 4 มกราคม 2547 อันนำไปสู่การดำเนินนโยบายของรัฐมากมาย แต่สุดท้ายคล้ายยึดอยู่เพียงแนวทางมาตรการด้านความมั่นคง ที่เน้นการทหารหรือการควบคุมเป็นหลัก การขาดความเข้าใจของที่มาของปรากฏการณ์รุนแรง จึงทำให้สถานการณ์บิดเกลียว เขม็ง ตึงเปรี๊ยะอย่างแข็งตัว และพร้อมสวิงกลับอย่างรุนแรงเฉียบขาด เพียงปีเดียวภาพลักษณ์สถานการณ์คล้ายถูกยกให้เทียบเท่ากับพื้นที่สงครามในประเทศอื่นๆ และ ‘สื่อ’ ไม่ว่าจะไทยหรือเทศนั่นเอง ที่มีส่วนสำคัญในการตอกย้ำภาพลักษณ์เหล่านี้ การรายงานสถานการณ์สภาวะความรุนแรงควบคู่กับการตอบสนองของรัฐอย่างแข็งกร้าว ถูกนำเสนอออกมาอย่างต่อเนื่อง และดูมืดมนอนธการ…

แต่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญก็เกิดขึ้นดุจประกายไฟ มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) มาแปรเปลี่ยนสภาพอันร้อนแรงให้อุ่นตัว ทำให้ ปรางทิพย์ ดาวเรือง นักวิจัยอิสระที่พำนักอยู่ในมาเลเซีย มีความสนใจปรากฏการณ์นี้ และเริ่มสำรวจทรรศนะต่างประเทศต่อข้อเสนอแนะของ กอส. โดยรวบรวมจากสิ่งพิมพ์ภาษาอังกฤษและมลายูในประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

ปรางทิพย์ บอกว่า สิ่งที่ได้จากงานวิจัยนับว่าน่าสนใจอย่างมาก เพราะแม้ว่า กอส. จะยุติการทำงานไปแล้ว แต่ข้อเสนอแนะยังคงมีอิทธิพลทางความคิดต่อสื่อและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ ที่ติด ตามปัญหาจังหวัดชายแดนใต้อย่างต่อเนื่อง

“สิ่งสำคัญคือ จะโน้มน้าวสังคมไทยให้ยอมรับแนวทาง กอส. ได้แค่ไหน ซึ่งสำคัญกว่าการสื่อจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถตัดบริบทของนานาชาติได้ เพราะในอนาคตสำหรับสถานการณ์อาจจะมีแรงดันมาจากข้างนอก ดังนั้นการศึกษาเสียงของข้างนอกควรเริ่มได้แล้ว” ปรางทิพย์กล่าวในช่วงสรุป

ก่อนหน้านั้นปรางทิพย์อธิบายผลการศึกษาว่า สื่อในมาเลเซียค่อนข้างให้ความสนใจกับสถานการณ์ภาคใต้มากกว่าสื่อในดินโดนีเซีย เป็นไปในท่าทีที่ค่อนข้างเห็นอกเห็นใจ และให้ความสำคัญกับการเกิดขึ้นและการทำงานของ กอส. ในขณะที่การนำเสนอข่าวนโยบายของรัฐไทยจะได้รับความสนใจน้อยกว่า อาจจะเป็นเพราะสามารถใกล้ชิดและเข้าถึงแหล่งข่าวได้มากกว่า

กอส. ตั้งขึ้นมาในช่วงที่สถานการณ์ในพื้นที่ค่อนข้างเลวร้าย ก่อนหน้านั้นเหตุการณ์ตากใบส่งผลสะเทือนถึงนโยบายพรรคการเมืองในมาเลเซียเลยทีเดียว ถึงขั้นที่มีการตั้งกลุ่มร่วมกับพรรคฝ่ายค้านเพื่อแก้ปัญหา และ นายบาดาวี นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ยังเคยเรียกร้องต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น

การตั้ง กอส. จึงมีสื่อสนับสนุนจำนวนมาก เพราะมีนัยที่ยอมรับทางเลือกที่ไม่ใช่การใช้อาวุธและการทหารเพียงอย่างเดียวเป็นครั้งแรก และสร้างความหวังขึ้น ในสื่อต่างประเทศ สายตาที่มีต่อ กอส. คือ ทางเลือกในแนวทางสันติและได้รับการยอมรับในทางสากล แต่ถูกมองว่ามีข้อด้อยคือ การขาดอำนาจในทางปฏิบัติ และความแตกต่างทางความคิดของบุคคลใน กอส. เป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจในบางเรื่อง นอกจากนี้รัฐเองก็ขาดความจริงใจในการสนับสนุน กอส. และรัฐสามารถเลือกหรือไม่เลือกใช้ก็ได้

สำหรับสื่อมาเลเซียซึ่งมีความใกล้ชิดกับสถานการณ์มาก ปรางทิพย์ตั้งข้อสังเกตที่สะท้อนมาจากการนำเสนอข่าวใน New Straits Times ว่า สื่อมาเลเซียสนับสนุนแนวทางของ กอส. และเน้นไปที่การเจรจา ซึ่งเธอวิเคราะห์ต่อไปว่า อาจเป็นเพราะมาเลเซียต้องการเป็นตัวกลางในการเจรจา แต่มันก็สะท้อนไปถึงความต้องการแนวทางการใช้ความสันติในการแก้ปัญหา การเสนอแนวคิด ‘คนกลาง’ การที่ต้องให้เข้าใจวัฒนธรรมและให้ยืนบนพื้นฐานสิทธิมนุษยชน ประเด็นที่สำคัญคือ ไม่มีการมองปัญหาภาคใต้ไปที่เรื่องการก่อการร้ายสากล ซึ่งรัฐไทยนำเสนอค่อนข้างมากในระยะแรก และสถานะของปัญหายังไม่นับเป็นการคุกคามเสถียรภาพและความมั่นคงของภูมิภาค เมื่อเทียบกับความขัดแย้งอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า เหตุที่ต้องสนใจสื่อต่างชาติในการนำเสนอข่าวภาคใต้เป็นเพราะ ข้อเรียกร้องของ กอส. ได้กลายเป็นแนวทางมาตรฐาน และถูกอ้างอิงในการนำเสนอของสื่อต่างประเทศแล้ว ข้อเสนอบางประการของ กอส. ไม่ตายไปพร้อมกับ กอส. เพียงแต่ถูกจำกัดอยู่ในสื่อเล็กๆ ส่วนสื่อกระแสหลักไม่ได้สนใจข้อเสนอของ กอส. เท่าไรนัก เช่น การเสนอให้ภาษามลายูท้องถิ่นเป็นภาษาทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องการแรงผลักจากรัฐ แต่พอถูกบล็อกด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์ และมีผู้ใหญ่ในสังคมไทยออกมาพูด สื่อก็เงียบ ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้สังคมไทยเรียนรู้ในการยอมรับความแตกต่างได้

การที่สื่อไทยเองก็ไม่ให้ความสำคัญ และสังคมไทยก็ไม่เคลื่อนไหว แม้สื่อต่างประเทศจะนำเสนอก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่มีแรงผลักให้กับข้อเสนอ กอส. เป็นจริง

“สื่อไทยกับสื่อต่างประเทศต่างกัน สื่อต่างประเทศจะเข้าสู่ปัญหาด้วยกรอบสิทธิมนุษยชน แต่สื่อไทยเมื่อนำเสนอเรื่อง 3 จังหวัดจะให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก เพราะแนวคิดความมั่นคงแบบรัฐไทยถูกปลูกฝังมานาน จึงทำให้การนำเสนอข่าวต่างกันด้วย” ดร.พวงทอง กล่าว

นักรบกลับบ้าน : ประสบการณ์จากสมรภูมิ

พ.อ.หญิง พิมลพรรณ อุโฆษกิจ อาจารย์ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทำงานวิจัยเรื่อง ‘แนวทางการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทรรศนะของทหารผู้ปฏิบัติการในพื้นที่’ ภายใต้แนวคิดว่าทรรศนะของทหารที่ลงไปปฏิบัติการในพื้นที่ น่าจะเป็นความรู้อีกชุดหนึ่งที่น่าจะช่วยเสริมให้เห็นทรรศนะของผู้ปฏิบัติต่อปัญหาต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในช่วงของการปฏิบัติได้ เช่น ช่องว่างระหว่างนโยบายและการปฏิบัติ หรือข้อเสนอแนะต่อแนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบ เป็นต้น

พ.อ.หญิง พิมลพรรณ ทำการศึกษาด้วยการศึกษาแนวคิดของหน่วยทหารกองทัพบกที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ช่วงเดือนตุลาคม 2548-2550 โดยการเก็บข้อมูลจากทั้งตัวแทนระดับสัญญาบัตรและประทวน สิ่งที่ได้จากการวิจัยคือ ทหารจะต้องทำหน้าที่ทั้งการทหารและการเมืองไปพร้อมกัน และยังมีอุปสรรคทั้งในเชิงปฏิบัติและการประสานงานในองค์กร แต่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ก็มีความเห็นว่า แนวทางสมานฉันท์ที่รัฐบาลดำเนินอยู่ผสานกับยุทธศาสตร์พระราชทาน ‘เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา’ เป็นหนทางแห่งความสำเร็จ

ทั้งนี้ พ.อ.หญิง พิมลพรรณ ได้เล่าลักษณะการทำงานของทหารว่า หากสถานการณ์ยังไม่สงบ แม้ทหารชุดหนึ่งจะได้ออกจากพื้นที่ไปแล้วตามระยะเวลาประจำการ สุดท้ายทหารก็จะถูกวนเวียนกลับมาในพื้นที่อีก ส่วนความรู้ความเข้าใจของทหารต่อสถานการณ์นั้น จะมีการอบรมก่อนการลงพื้นที่ปฏิบัติงาน

ทหารเชื่อว่ากลุ่มสำคัญที่เป็นผู้ก่อการคือแนวร่วม BRN ซึ่งจะทำงานทั้งทางด้านมวลชนและด้านกองกำลังติดอาวุธ องค์กรระดับมวลชนจะมีการชักจูงลงไปถึงระดับหมู่บ้าน แต่ถ้าชักจูงไม่สำเร็จจะใช้การทำให้กลัว ส่วนกองกำลังติดอาวุธก็จะมีการจัดชุดกำลัง (RKK) หมู่บ้านละ 6 คน ใหญ่ขึ้นมาจะมีชุดคอมมานโด และผู้บัญชาการทหาร

สำหรับแนวทางการทำงานคือ การทำตามนโยบาย แต่มีทหารลงไปในพื้นที่เยอะอาจจะใช้คำว่ายกทัพก็ได้ พ.อ.หญิง พิมลพรรณ ยืนยันว่าทหารใช้แนวทาง กอส. อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการสมานฉันท์และสันติวิธี

“แต่ถามว่าสมานฉันท์กับใคร สมานฉันท์กับคนดี และปราบปรามกลุ่มก่อความไม่สงบและถืออาวุธ ซึ่งกลุ่มนี้สมานฉันท์ไม่ได้” พ.อ.หญิง พิมลพรรณ กล่าว

เธอยังพูดถึงแนวทางการทำงานของทหารในพื้นที่ว่า ใช้วิธีการแยกปลาออกจากน้ำคือ เปิดทางให้ผู้หลงผิดมารายงานตัว ส่วนเด็กและเยาวชนใช้การเปิดโลกทัศน์ด้วยการให้ไปเรียนรู้สังคมใหม่ๆ พาไปทัศนศึกษาท้องถิ่นที่แตกต่างจากตัวเอง การพัฒนาความสัมพันธ์และช่วยเหลือประชาชน มีการตั้งกองพลทหารราบที่ 15 เพื่อประจำในพื้นที่แก้ปัญหาการหมุนเวียนกองกำลัง และคัดเลือกเยาวชนใน 3 จังหวัด มาเป็นกำลังพลในกองทัพเพื่อให้เข้าใจบทบาทของกองทัพ เมื่อกลับไปคุยกับที่บ้านและกลุ่มนี้ยังเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมของพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ ทหารมีแนวทางเจรจา แต่ปัญหาที่สำคัญคือ ผู้ที่เจรจาอยู่ด้วยนั้นเป็นตัวจริงหรือไม่

“จุดแตกหักไม่ได้อยู่ที่รัฐ แต่อยู่ที่หมู่บ้าน ทำอย่างไรจึงจะได้รับการยอมรับและไว้ใจ ไม่อย่างนั้นจะร่วมมือกับทหารไม่ได้ เขาถามทหารว่า ทหารอยู่กับเขาทุกวันหรือไม่ แต่เขาอยู่กับโจรทุกวัน จึงต้องรู้จักพื้นที่”

ด้าน พล.ต.ท.สมศักดิ์ แขวงโสภา อดีตผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กล่าวว่า แม้ว่า BRN จะเป็นปัญหาและมีตัวตน แต่ปัญหาเรื่องความยุติธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ใช่ปัญหาที่เป็นเรื่องรอง การปฏิบัติการของ BRN ที่รุนแรงและแตกต่างไปจากที่เคยเป็นมา หรือทำไมต้องลงมือโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ เป็นเรื่องที่ต้องศึกษา แต่กรณี ‘ตากใบ’ ที่มีการตายจำนวนมากในขณะที่อยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ก็เป็นเรื่องที่ต้องคิด

นอกจากนี้นโยบายสมานฉันท์และสันติวิธี แม้เป็นแผนที่ปรากฏชัดในทางทหาร แต่ในระดับปฏิบัติอาจยังไม่เข้าใจ คิดว่าควรต้องมีทหาร ตำรวจ และพลเรือนในระดับหมู่บ้านด้วย และทหารต้องเป็นพลเรือนในตัวเอง ปัญหายาเสพติดอาจเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหา เพราะทุกมัสยิดหรือปอเนาะล้วนขานรับในเรื่องการทำนโยบายต่อต้านยาเสพติด ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ประเด็นนี้จะเป็นทางเชื่อมประสานได้

ประชาไท