WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Sunday, May 11, 2008

เรียนรู้ ‘ไฟใต้’ บนเงื่อนไขเก่า/กลาง/ใหม่ แล้ว ‘แลไปข้างหน้า’ (จบ)

‘เมล็ดพันธุ์เลือด?’ เด็กใต้ในฐานะเหยื่อความรุนแรง
ในขณะที่ ดร.เพชรดาว โต๊ะมีนา อดีต กอส. ซึ่งทำงานเกี่ยวกับเด็กและการเยียวยา อภิปรายว่า ประเด็นเรื่องเด็กมักเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรง แต่จะได้รับความสนใจน้อยที่สุด เด็กที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงและได้รับความสูญเสีย ไม่ว่าพ่อ แม่ เพื่อน หรือญาติพี่น้อง มีสิ่งที่สะท้อนออกมาคือ ความเกลียดชังและความแค้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเด็กกลุ่มนี้อยู่นอกระบบการศึกษา

แต่สำหรับงานวิจัย ‘ความรุนแรงในภาคใต้กับความคิดของเด็ก: ศึกษากรณีเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ’ โดย ซากีย์ พิทักษ์คุมพล มีมุมมองที่แตกต่างออกไป

ซากีย์ ทำการศึกษาเด็กในพื้นที่ที่ถูกนิยามว่า ‘สีแดง’ โดยเลือกพื้นที่ที่มีสถิติของความรุนแรงมากที่สุดคือ ใน อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และโดยข้อจำกัดหลายด้าน จึงใช้วิธีในการศึกษาโดยการให้เด็กเขียนบทความ 3 เรื่อง คือ หมู่บ้านของฉัน โรงเรียนของฉัน และสิ่งที่ฉันอยากเป็นในอนาคต พร้อมกับให้วาดภาพประกอบ นอกจากนี้ยังมีแบบสอบถามและการพูดคุย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ลึกขึ้น

ซากีย์ พบว่า เมื่อ 5 ปี ก่อนเหตุการณ์ เด็กๆ มีความรู้สึกไปในทิศทางเดียวกันคือ พื้นที่หรือหมู่บ้านที่อยู่มีความปลอดภัย เพราะไม่มีเหตุการณ์อะไร แต่เมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น เด็กๆ มีความรู้สึกไม่ปลอดภัยในบางครั้ง เช่น เมื่อมีคนแปลกหน้าเข้ามาในหมู่บ้าน หรือเมื่อต้องแต่งชุดนักศึกษาวิชาทหารจะยิ่งรู้สึกไม่ปลอดภัยเลย

“ความรุนแรงส่งผลกระทบต่อความรู้สึกมาก แต่เด็กจะรู้สึกว่าตนเองไปไหนมาไหนได้ตามปกติ คือรู้สึกไม่ปลอดภัยแต่วิถีชีวิตในการไปไหนมาไหนยังเหมือนเดิม กลัวแต่ยังอยากไปเล่นอยู่ เพียงแต่ช่วงเวลาในการออกไปจะน้อยลง ในช่วงเวลาหนึ่งความรุนแรงไม่สามารถขโมยตัวตนของเขาไปได้อย่างสิ้นเชิง” ซากีย์ ตั้งข้อสังเกต

สำหรับคำถามเรื่องโรงเรียนของฉัน ซึ่งเป็นการประเมินเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกัน เด็กบางคนตอบคำถามด้วยการเล่าเรื่องราวระหว่างเพื่อนที่มีทั้งพุทธและมุสลิม แต่เรื่องที่น่าสนใจมากเมื่อลงไปคุยกับเด็กบางคนที่พ่อเสียชีวิตจากความรุนแรง หลังสร้างความคุ้นเคยกันมากขึ้นระดับหนึ่งแล้ว เมื่อซากีย์ถามว่า ถ้ามีโอกาสแก้แค้นจะทำหรือไม่ เด็กบางคนตอบว่า “ไม่...ผมเชื่อกฎแห่งกรรม” ส่วนเด็กมุสลิมมักจะตอบว่า “ให้เป็นเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า” หรือ “ไม่แก้แค้น เพราะจะยิ่งเป็นการเพิ่มปัญหา”

เมื่อถามต่อไปว่าถ้ามีโอกาสได้คุยกับเขา อยากถามอะไร เด็กหลายคนมักจะขอถามว่า “ยิงพ่อหนูทำไม” แต่เด็กคนหนึ่งถามว่า...

“ยิงพ่อหนูแล้ว ชีวิตมีอะไรดีขึ้นบ้าง”

ซากีย์ บอกว่า คำถามนี้คงสามารถไปกระตุกต่อมความคิดของผู้กำลังก่อเหตุได้บ้าง เพราะเหมือนการตั้งคำถามกลับไปว่า มีอะไรที่จะได้จากความรุนแรงนอกจากความสูญเสีย

“สิ่งที่เห็นจากการศึกษา เชื่อว่าสายใยความสัมพันธ์ของชุมชนในอดีตที่เคยโอบอุ้มพื้นที่ยังไม่ขาดสิ้นไป ยังมีปฏิสัมพันธ์ของเด็กที่ทำให้เหตุการณ์ไม่เลวร้ายไปเสียทีเดียว แต่ต่อไปไม่แน่ใจ ถ้ารัฐยังไม่สามารถยุติเงื่อนไขของความรุนแรงในพื้นที่ได้ และปล่อยให้เหตุการณ์ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ก็อาจทำให้สายใยเหล่านี้ถูกกระทบได้

.การปฏิสัมพันธ์ของคนจะดีขึ้นหรือเลวลงจะต้องมีพื้นที่ เช่นเดียวกับเด็ก สามารถแยกแยะได้ว่ามุสลิมไม่ได้เลวร้ายไปทั้งหมด เพราะการมีเด็กพุทธอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน” ซากีย์ กล่าวในช่วงท้าย

ขัดกันฉันท์มิตร : คู่มือทักษะวัฒนธรรมชายแดนใต้

ในช่วงท้ายของการเสวนาพูดถึงหนังสือ ‘คู่มือทักษะวัฒนธรรมชายแดนใต้’ โดย แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง นักวิชาการคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร หนังสือเล่มนี้ใช้ภาษาง่ายไม่ซับซ้อน สะท้อนภาพวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่มีความหลากหลายและมีวิถีชีวิตที่ประสานต่อรองกันในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ให้เป็นที่รับรู้ของผู้คนทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และส่วนอื่นๆ ของสังคมไทย และเพื่อให้เข้าใจแง่มุมของวิถีชีวิตซึ่งต่างไปจากภาพความรุนแรงที่ถูกนำเสนอรายวัน

แพร กล่าวว่า เป็นคนในพื้นที่และเคยคิดว่ารู้จักบ้านของตัวเองดี แต่เมื่อทำหนังสือเล่มนี้ทำให้ค้นพบว่า แท้จริงแล้วไม่รู้เรื่องบ้านตัวเองเลย

“นึกว่ารู้จักกันแต่ไม่รู้จักกันอย่างแท้จริง ไม่รู้ว่า พุทธ มุสลิม หรือคนจีนในพื้นที่เป็นอย่างไร และคนมุสลิมในพื้นที่เองก็ไม่ได้เข้าใจคนต่างศาสนาเหมือนกัน”

แพร อธิบายว่า คู่มือทักษะทางวัฒนธรรมมีตัวละครเป็นเด็กในโรงเรียน ซึ่งมีทั้งเด็กไทยพุทธ เด็กลูกคนจีน และเด็กมลายูมุสลิม และโรงเรียนเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่ใช้เรียนรู้กัน แต่ในความเป็นจริง โรงเรียนยังไม่ได้ถูกใช้เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการเลย ในหนังสือยังพูดถึงเรื่องภาษาในพื้นที่ ที่ไม่ได้มีแค่ภาษามลายูท้องถิ่นเท่านั้น แต่ในภาษามลายูมุสลิมก็ยังแยกย่อยลงไปอีก เช่น ภาษาเจ๊ะเห ที่ใช้เฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น

หนังสือยังได้รวบรวมประเพณีในรอบ 12 เดือนของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดเอาไว้ บางประเพณีแยกออกจากกัน และสามารถบอกได้ว่าใครเป็นใคร ชาติพันธุ์อะไร ในขณะที่ประเพณีหลายอย่างเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์ เช่น ประเพณีมาแกแต (เลี้ยงน้ำชา) ซึ่งเป็นประเพณีการระดมเงินร่วมกันโดยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนา

สิ่งที่น่าสนใจในหนังสือคู่มือทักษะทางวัฒนธรรมของแพรอีกเรื่องหนึ่ง คือ ประวัติศาสตร์ในพื้นที่ที่สามารถเล่าได้ถึง 5 แบบ สะท้อนว่าในพื้นที่เดียวกันประวัติศาสตร์สามารถถูกสร้างและถูกเล่าได้หลายแบบ

แบบแรก คือ ประวัติศาสตร์ชาติที่พูดถึงการปราบปรามและการแข็งข้อของปัตตานี หรือปัตตานีเท่ากับกบฏ ในขณะที่ประวัติศาสตร์แบบที่สอง คือ ประวัติศาสตร์รายา แห่งปัตตานีดารุสซาลาม ที่เล่าถึงการต่อสู้เพื่อต่อต้านการครอบครองของสยาม

แพรตั้งข้อสังเกตว่า ประวัติศาสตร์ทั้ง 2 แบบมีนัยทางการเมืองที่ต่อรองอำนาจกัน

ส่วนประวัติศาสตร์แบบที่สาม คือ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เช่น ประวัติความเป็นมาของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หรือประวัติความเป็นมา เรื่องเล่าการตั้งเมืองต่างๆ

แบบที่สี่ คือ ประวัติศาสตร์ของกำปงหรือหมู่บ้าน เช่น บ้านพิเทน ที่มีเรื่องเล่าว่ามีพี่น้องทหารจาม 7 คน ซึ่งลงมากับกองทัพอยุธยาแต่ไม่ได้กลับไป จึงมาตั้งบ้านเมืองอยู่ที่หมู่บ้านนั้น โดยมีพี่ชายคนโตชื่อ ‘พี่เณร’ และเสียงเพี้ยนกลายมาเป็น ‘พิเทน’ เป็นต้น ประวัติศาสตร์แบบนี้อาจสามารถบอกได้ว่า ใคร คนกลุ่มไหนมาตั้งถิ่นฐาน และสามารถบอกได้ว่า คนเป็นเครือญาติแต่สามารถข้ามรัฐข้ามชาติกันได้อย่างไร

แบบสุดท้าย คือ ประวัติศาสตร์บาดแผล เช่น ประวัติศาสตร์อันมีผลมาจากรัฐนิยมในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ทำให้ยุ่งไปทั่วทั้งประเทศ เช่น การห้ามแต่งกายฮิญาบ คนจึงเล่าต่อๆ กันมาว่า เวลานั้นมีทั้งการถลกฮิญาบผู้หญิง การเอากาปิเยาะห์ (หมวกทรงกระบอกของผู้ชายมุสลิม) มาเตะเล่น ปัจจุบันเรื่องเล่าอย่างนี้ยังไม่หายไป

อีกบาดแผลอาจมาจากการพัฒนา เช่น สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ให้มีการสร้างนิคมพัฒนาตนเอง โดยย้ายเอาคนอีสานมาตั้งถิ่นฐาน กลายเป็นการแย่งชิงทรัพยากรของคนในพื้นที่ หรือการประกาศเขตอุทยานทับที่ทำกินของชาวบ้าน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ร่วมสมัย เช่น เหตุการณ์สะพานกอตอในปี 2518 (ทหารนาวิกโยธินอุ้มคนมุสลิมไปสังหารและนำศพไปทิ้งที่สะพานกอตอ แต่มีผู้รอดชีวิตมาเป็นพยานเล่าเหตุการณ์) กรือเซะ ปี 2530-2533 และ 2547 เหตุการณ์ตากใบ ปี 2547 เป็นต้น ซึ่งบาดแผลเหล่านี้อาจทำให้ความเป็นมิตรทั้งไทยพุทธ จีน มลายู ที่เคยมีมาหายไป

แพร กล่าวสรุปตอนท้ายว่า หนังสือเล่มนี้คงไม่สามารถแก้ปัญหาภาคใต้ได้ แต่ได้ให้ภาพทั้งสวยงามทั้งบาดแผล ว่าที่ภาคใต้เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้เพราะอะไร และอาจใช้กำหนดอนาคต หรือเป็นความรู้เบื้องต้นก่อนลงไปทำงาน หรือไปทำความรู้จักคนในพื้นที่ เพราะปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาของคนไทยที่ไม่รู้จักและเข้าใจในวัฒนธรรมอื่นอย่างแท้จริง

สรุป
ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หัวหน้าโครงการวิจัยอนาคตไฟใต้ กล่าวสรุปสุดท้ายว่า สิ่งที่ต้องเข้าใจเรื่องภาคใต้คือ ความหลากหลาย สังคมไทยไม่ยอมรู้จักตัวเอง และหวาดกลัวตัวเอง หวาดกลัวประวัติศาสตร์บางอย่าง กลัวความหลากหลาย ทั้งที่ความหลากหลายอาจเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม ไม่ใช่ภัยคุกคาม

“อยากให้ผู้ใหญ่ได้ยินเสียงความหลากหลายและค้นพบหนทางแก้ไข เวลานี้อาจยังพอมีเวลาแก้ไข และทางแก้ไขต้องใช้ความรู้เท่านั้น”

ประชาไท