คอลัมน์ : คิดในมุมกลับ
โดย ปฏิญา ยอดเมฆ
“เหยื่อ” รายล่าสุดของม็อบเถื่อนพันธมิตรฯ ในนามของคำว่า “หน่วยรักษาความปลอดภัย” เป็นเพียงมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ถูกว่าจ้างให้ไปส่งที่ทำเนียบเท่านั้น แต่กลายเป็นว่าสติ๊กเกอร์ “เบื่อพันธมิตร” ที่ติดหน้ารถ กลับทำให้หนุ่มมอ’ไซค์รับจ้างถูกหิ้วปีกไปสอบสวนและทำร้ายร่างกาย ยึดบัตรเอทีเอ็ม และบีบบังคับให้บอกเลขที่บัตรเพื่อไปกดเงิน เคราะห์ยังดีที่หนุ่มคนนี้ถูกปล่อยตัวออกมาอย่างปลอดภัยครบ 32 หลังถูกกักตัวอยู่กว่า 4 ชั่วโมง
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “การ์ดพันธมิตรฯ” ใช้อภิสิทธิ์เถื่อนทำร้ายร่างกายประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่หลุดหลงเข้าไปยังเขตปกครองพิเศษนั่น จริงอยู่ที่หน่วยรักษาความปลอดภัยของสถานที่ชุมนุมใดก็ตาม มีสิทธิ์เชิญตัวหรือป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกที่มีแนวโน้มจะเป็นต้นเหตุแห่งความวุ่นวายเข้ามาในบริเวณการชุมนุม แต่นั่นก็ไม่ใช่การ “นำตัว” เข้าไปสอบสวนกันเองภายในม็อบ หรือนำตัวไปประจานบนเวทีของตัวเอง ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังโมโหของผู้ชุมนุมในบริเวณนั้น
ที่สำคัญ หน่วยรักษาความปลอดภัยของพันธมิตรฯ ไม่ใช่ “เจ้าหน้าที่ตำรวจ” ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะควบคุมตัวหรือสอบสวนผู้ที่ถูกสงสัยว่ากระทำความผิด การกระทำของการ์ดพันธมิตรฯ ไม่ต่างจากการกระทำผิดในข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว ข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย ฯลฯ และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่ยืนยันให้เห็นว่านี่เป็นม็อบโจรปล้นทำเนียบ ไม่ใช่การชุมนุมตามระบอบประชาธิปไตยมาตั้งนานแล้ว หมดสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายมาตั้งแต่เจออาวุธในการชุมนุมมาก่อนหน้านั้นแล้วด้วยซ้ำ
ความอดทนที่ประชาชนประเทศนี้มีต่อม็อบพันธมิตรฯ อาจหมายถึงการยอมให้อยู่อาศัย และ “ทำนา” ภายในทำเนียบรัฐบาลอย่างไม่ไปเกะกะระรานใคร แต่ยิ่งนานวัน พวกนี้ยิ่งอยู่สงบๆ ไม่ได้ และยังลากคนเข้าไปทำร้ายถึงในที่ซ่องสุมของตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับวันยิ่งมีแต่ทำให้ความอดทนของพลเมืองดีลดลง
เหตุปาระเบิดใส่ม็อบที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันมานี้ อาจเป็นเพียงการเริ่มต้นของความรุนแรงที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น นั่นคือ ตาต่อตาฟันต่อฟัน เราทุกคนที่เป็นพลเมืองดี เป็นประชาชนประเทศนี้ที่เคารพกฎหมาย ไม่มีทางสนับสนุนให้ประชาชนด้วยกันต้องลุกมาแก้แค้นกันเอง สิ่งเดียวที่สมควรจะทำคือเรียกร้องกดดันไปยังรัฐบาลและตำรวจว่ากลัวอะไร เกรงใจใคร เหตุใดจึงปล่อยให้โจรทำเนียบแผ่ขยายความป่าเถื่อน กัดกินความสงบร่มเย็นของประชาชนคนอื่นๆ ได้มากและนานมาถึงขนาดนี้
หรือต้องรอให้เหตุการณ์มันกลายเป็น “จลาจล” จนระงับไม่อยู่ จึงจะเพิ่งคิดกันออกว่าควรจะจัดการกันอย่างไร