ที่มา ไทยรัฐ
จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นประเด็นที่สังคมไทยเริ่มให้ความตระหนัก มีการพูดถึงกันมากในช่วงนี้
วันเดียวกัน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ขณะที่ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกคุณหญิงพจมาน ชินวัตร และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ คนละ 3 ปี รวมทั้งจำคุกนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการคุณหญิงพจมาน 2 ปี ฐานร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีโอนหุ้นชินคอร์ป ทำให้รัฐขาดรายได้ 546 ล้านบาท
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้จัดให้มีการสัมมนาในหัวข้อ “จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550”
โดยเชิญ ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี แสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ”
อาจารย์ธานินทร์เปิดประเด็นว่า ความจริงเมืองไทยตระหนักและให้ความสำคัญเกี่ยวกับความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม และจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตั้งแต่ตอนที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2540
มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฯ ปี 40 กำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีแผนพัฒนาการเมือง จัดทำมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างอื่นของรัฐ เพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่
ผลของมาตรา 77 ในรัฐธรรมนูญฯ ปี 40 ทำให้มีการจัดทำประมวลจริยธรรมขึ้นสำหรับหน่วยงานของรัฐแทบทุกแห่ง
แต่ อ.ธานินทร์บอกว่า เป็นที่น่าเสียดาย ม.77 ยังมีจุดอ่อน ตรงที่ขาดสภาพบังคับ เพราะไม่มีบทกำหนดโทษ ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนจริยธรรม หรือไม่มีการลงโทษผู้ละเมิดจริยธรรมตามความร้ายแรงของความผิดอย่างเพียงพอ
จึงทำให้ประมวลจริยธรรม ตาม ม.77 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ขาดประสิทธิภาพ
เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จึงได้กำหนดไว้ในมาตรา 279 วรรค 2 ว่า
การจัดทำจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง... จะต้องมีกลไกและระบบในการดำเนินงาน เพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำหนดขั้นตอนการลงโทษตามความร้ายแรงแห่งการกระทำ
อ.ธานินทร์บอกว่า เหตุผลที่ต้องมีการจัดทำประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นเพราะทุกวันนี้ สังคมไทยกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับจิตสำนึกด้านจริยธรรม เป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะการทุจริตคอรัปชัน ที่เกิดขึ้นในทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นวงการเมือง วงราชการ และภาคธุรกิจเอกชน
ปัญหาดังกล่าว นับวันยิ่งมีแนวโน้มเลวร้ายลงเป็นลำดับ ยังแพร่ระบาดในวงกว้าง ลึก และซับซ้อนยิ่งขึ้น มีการพัฒนากลเม็ด และวิธีการที่แยบยล
ยกตัวอย่าง การเป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้เสียในสัญญาของหน่วยงานที่ตนสังกัด หรือใช้ประโยชน์จากการรู้ข้อมูลภายใน เพื่อประโยชน์ของตน หรือการนำโครงการสาธารณะลงในเขตเลือกตั้ง เพื่อใช้ประโยชน์ทางการเมือง เป็นต้น
อ.ธานินทร์บอกว่า วิกฤตการณ์เหล่านี้ กลายเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไทย ที่ทุกคนล้วนทราบดี แต่ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่า ก็คือ มีแนวโน้มที่การทุจริตคอรัปชันจะได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้นไปเรื่อยๆ
“คนส่วนหนึ่งมีทัศนคติว่า โกงกินบ้าง ก็ไม่เป็นไร ขอให้มีผลงานก็พอ และมองว่าการซื่อสัตย์สุจริต เป็นคนโง่ที่ถูกเอาเปรียบ สามารถยอมทนต่อการทุจริตได้ ทั้งที่เมื่อเทียบผลงานที่ได้รับ กับความเสียหายที่เกิดกับประเทศชาติ การทุจริตไม่อาจทำให้ได้ผลงานที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน”
“สังคมไทยยุคใหม่ เป็นสังคมวัตถุนิยมที่เห่อคนร่ำรวย คนมีอำนาจ เพื่อหวังไว้พึ่งพา โดยไม่คำนึงว่าเขาร่ำรวย หรือมีอำนาจมาอย่างไร ทางแก้ ก็คือ ต้องทำให้ผู้บริหารเป็นคนดี แต่เวลานี้ยังหาไม่ได้ เพราะมีแต่พวกมือถือสาก”
อ.ธานินทร์บอกว่า หลายคนอาจสงสัย ในเมื่อมีกฎหมายเกี่ยวกับวินัย และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตบังคับใช้อยู่แล้ว และในอนาคตยังจะมีกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการ
ขัดกันของผลประโยชน์ส่วนบุคคล และผลประโยชน์ส่วนรวมใช้บังคับอีกฉบับ
เหตุใดรัฐธรรมนูญจึงต้องกำหนดให้มีการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรม ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในรูปของประมวลจริยธรรมขึ้นมาอีก
คำตอบ ก็คือ กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่นั้น เป็นกฎหมายที่มีสภาพบังคับโดยทั่วไป ซึ่งเน้นไปที่มาตรการการลงโทษ หรือปราบปรามหลังจากที่มีความผิดเกิดขึ้นแล้ว
ส่วนประมวลจริยธรรม เป็นกฎหมายประเภทหนึ่ง แต่ใช้บังคับเฉพาะวิชาชีพหนึ่งๆ ซึ่งเน้นไปที่การแนะแนวทางในการประกอบวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพว่า ควรปฏิบัติหน้าที่ และดำรงตนอย่างไร จึงจะมีประสิทธิภาพและเกิดความเหมาะสมสูงสุด
อ.ธานินทร์ยกตัวอย่าง หากท่านเป็นข้าราชการผู้มีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดการประกวดราคา เพื่อก่อสร้างและจัดซื้อพัสดุสำหรับหน่วยงานราชการ ว่าผู้เข้าประกวดรายใดจะเป็นผู้ชนะการประกวด
เมื่อท่านได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว ผู้ชนะการประกวดได้นำเงินมามอบให้ท่านเป็น สินน้ำใจ จำนวนหนึ่ง แม้ว่าก่อนการวินิจฉัยชี้ขาดท่านไม่เคยเรียกร้อง หรือมีข้อตกลงว่าท่านจะช่วยเหลือผู้ชนะการประกวดราคาก็ตาม
จะเห็นว่า หากท่านรับสินน้ำใจนั้นไว้ ท่านไม่ได้กระทำผิดกฎหมายแต่ประการใด แต่ในด้านจริยธรรมนั้น ถือว่าท่านไม่มีสิทธิที่จะได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากการปฏิบัติงานในหน้าที่ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ เพราะจะทำให้มีบุญคุณต่อกัน อันอาจชักนำให้มีการปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในครั้งต่อๆไป และจะเป็นที่ครหา ทำให้เกิดความเคลือบแคลงระแวงสงสัยแก่บุคคลทั่วไปได้ว่า ที่ผ่านมามีการให้ผลประโยชน์อันใดก่อนการวินิจฉัยหรือไม่
อาจารย์ธานินทร์สรุปทิ้งท้ายไว้ว่า ดังนั้น การจัดทำประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามที่รัฐธรรมนูญฯ ปี 50 กำหนด นอกจากผู้ตรวจการแผ่นดินควรจัดทำประมวลจริยธรรมอันเป็นมาตรฐานกลางขึ้นมา 1 ฉบับ บัญญัติเนื้อหาให้มีความสมบูรณ์อยู่ในตัว ทั้งในแง่การปฏิบัติหน้าที่ การดำรงตน กลไกควบคุมตรวจสอบ
เพื่อให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรม และบทกำหนดโทษเมื่อมีการฝ่าฝืน
ในบทบัญญัติของประมวลจริยธรรม ควรเขียนไว้ให้แจ้งชัด กระชับ เฉียบคม และมีคำอธิบายประกอบว่า บทบัญญัติแต่ละข้อ มีวัตถุประสงค์ อย่างไร เพื่อจะได้ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมได้อย่างถูกต้อง
อ.ธานินทร์ให้ข้อคิดทิ้งท้ายว่า ปัญหาทุจริตคอรัปชันที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่คนทั่วไปขาดการเอาใจใส่ตรวจสอบ ดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าพนักงานของรัฐ ที่ทุจริตคอรัปชัน
“การมีความคิดว่า ฉันไม่เกี่ยว หรือธุระไม่ใช่ ทำให้สังคมไทยขาดจิตสำนึกสาธารณะ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีผลต่อการรักษาเกียรติภูมิของประเทศชาติ และความรับผิดชอบในศีลธรรมต่อสังคมส่วนรวม”.