คอลัมน์ : สื่อมวลชนภิวัตน์
กิตติพงษ์ สุ่นประเสริฐ
ksoonprasert@hotmail.com
เริ่มต้นขอบอกว่าดีใจที่เหตุการณ์ตรวจสอบสื่อแบบถึงลูกถึงคนของ กลุ่มคนรักเชียงใหม่ 51 กับ สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย หรือ ไทยพีบีเอส โทรทัศน์สาธารณะในเรื่องการรายงานข่าวให้ร้ายโดยขาดหลักฐานที่ชัดแจ้งก็จบลงโดยไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นแต่อย่างใด เมื่อทางผู้บริหารสูงสุดของ ทีวีไทย ยอมออกมาขอโทษทางอากาศ ว่า “ไม่มีเจตนา” ให้ร้ายในการรายงานข่าวชิ้นที่มีปัญหาดังกล่าว ซึ่งทางกลุ่มคนรักเชียงใหม่ก็ถือว่า “รับได้” และ ยุติการชุมนุม
ท่านผู้อ่าน ถ้าสังเกตจะเห็นว่าผมไม่ใช้คำว่าจบลง “ด้วยดี” เพราะจริงๆ แล้ววิธีการบริหารจัดการปัญหาของผู้บริหารทีวีไทยในเรื่องนี้ไม่ได้สะท้อนในจิตสำนึกของการทำงานเพื่อสาธารณะเลย
เริ่มจากวิธีการขอโทษของผู้อำนวยการคนปัจจุบัน ที่ดูแล้วก็รู้สึกว่าเสียไม่ได้ แถมยังใช้เวลาเพียงน้อยนิด และออกอากาศในช่วงข่าวก่อนเที่ยงคืน กับข่าวเช้า ซึ่งเป็นช่วงที่คนดูไม่มากเท่าไร
แถมวันรุ่งขึ้น รองผู้อำนวยการฝ่ายข่าวคนปัจจุบันก็ยกพวกไปยื่นหนังสือถึงนายกฯ ใจความสั้นๆ คือ ขอความคุ้มครองไม่ให้เกิดการคุกคามสื่อ ตามมาด้วยแถลงการณ์จาก กรรมการนโยบายที่สรุปสั้นๆ ว่า เชื่อมั่นในการทำข่าวของผู้อำนวยการว่าดีแล้ว ชอบแล้ว
ท่าทีแบบนี้บอกได้อย่างเดียวว่าเต็มไปด้วยความยโสแบบสื่อเอกชนโดยขาดการคำนึงว่า “สื่อสาธารณะ” นั้นมีลักษณะต่างจากสื่อเอกชนโดยสิ้นเชิง อย่างที่ได้เขียนไว้ในสัปดาห์ที่แล้วว่า กฎหมายเองก็ระบุว่าสื่อนี้ต้องสร้างกลไกให้ประชาชนตรวจสอบได้จริงๆ เพราะที่มาของรายได้หลักๆ มาจากประชาชนแท้ๆ
สำหรับผมแล้ว การแก้ปัญหากรณีนี้แสดงว่าการจะอวดอ้างว่าสถานีนี้มีมาตรฐานเท่าเทียมกับบีบีซีของอังกฤษนั้น สงสัยจะไม่เข้าเค้าเสียแล้ว
ในกรณีของบีบีซี ถ้ามีคนร้องเรียนเรื่องการออกข่าวให้ร้ายโดยไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจน ทางองค์กรจะรับเรื่องแล้วตั้งกรรมการสอบสวนทุกฝ่ายอย่างเป็นระบบ เปิดเผยและโปร่งใส จากนั้นจึงมีคำวินิจฉัยออกมาว่าคำร้องฟังขึ้นหรือไม่
สมมติว่าคำร้องนั้นฟังขึ้น คือ สถานีรายงานข่าวไม่ตรงกับความเป็นจริง ทางบีบีซีก็จะขอโทษอย่างเป็นทางการทางวิทยุ และ โทรทัศน์ของตน ในความยาวที่เหมาะสม และ ออกในความถี่ที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าคนดูจำนวนมากที่สุดจะได้รับข้อมูลนี้
แต่ผู้บริหารทีวีไทยตั้งแต่กรรมการนโยบายไม่ได้ดำเนินการแบบที่ว่าเลย
ผมหวังลมๆแล้งๆ ว่าพอมีคำโวยวายจากกลุ่มคนรักเชียงใหม่ 51 แล้ว ทางกรรมการนโยบายจะถือว่าเรื่องนี้เป็นจังหวะที่ดีในการเริ่มเรื่อง “ข้อบังคับทางจริยธรรมของวิชาชีพ” และ “กรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์” ที่จะสะท้อนจิตวิญญาณของสื่อสาธารณะออกมาสู่สาธารณะ โดยสถานีจะรับเรื่องและอธิบายให้ทางผู้ร้องได้เข้าใจ จากนั้นตั้งกรรมการขึ้นมาพิจารณาที่มาที่ไปของเรื่องอย่างรวดเร็ว รอบคอบ เป็นธรรม และโปร่งใส จากนั้นเมื่อได้ผลแล้วทางสถานีจะแจ้งให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและสาธารณะได้ทราบ และถ้าพบว่าการรายงานข่าวมีข้อบกพร่องจริง ทางสถานีก็จะจัดเวลาเพื่อการออกอากาศขออภัยในเวลาและความถี่ที่เหมาะสม ในลักษณะที่จะแสดงว่าสถานีหรือองค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างแท้จริง ซึ่งการทำอย่างนี้ สถานีจะสร้าง “ความน่าเชื่อถือ” ให้กับสังคมส่วนรวมว่านี่คือมาตรฐานการปฏิบัติของสื่อสาธารณะที่เชิดหน้าชูตาประเทศได้เหมือนกับบีบีซีของอังกฤษ เอ็นเอชเคของญี่ปุ่น พีบีเอสของอเมริกา เอบีซีของออสเตรเลีย และองค์กรอื่นๆ ทั่วโลก
แต่สิ่งที่ทำมันตรงข้าม ซึ่งผมวิเคราะห์ได้เลยว่าทางผู้บริหารสถานีมองเรื่องนี้ด้วยอคติคือ มองว่าเป็นพวกเสื้อแดงที่ไม่ชอบสถานี ทั้งๆที่ในฐานะสื่อสาธารณะจะใช้ทัศนคติแบบเลือกปฏิบัติไมได้ นอกจากนั้น ยังรีบปกป้องเจ้าหน้าที่ของตนโดยเร็วเกินไปอีกด้วย
ดูเหมือนกรรมการนโยบายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจะลืมตัวไปว่าหน้าที่ที่กฎหมายระบุให้ทำ 16 อย่างนั้นมีอยู่ 4 อย่าง ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรงคือ
1 กำหนดข้อบังคับด้านจริยธรรมของกรรมการบริหาร ผู้อำนวยการ ผู้บริหารขององค์การ พนักงานและลูกจ้างขององค์การและบทลงโทษ
2 กำกับดูแลเพื่อให้ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะและคำติชม ตลอดจนข้อร้องเรียนของประชาชนต่อองค์การได้รับการพิจารณาอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว
3 กำหนดข้อบังคับด้านจริยธรรมของวิชาชีพเกี่ยวกับการผลิต และการเผยแพร่รายการขององค์กร
4 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน
ดังนั้น เมื่อทางกรรมการนโยบายยังไม่ตั้งกลไกดูแลทั้งหลายขึ้นมา เมื่อมีคนมาร้องเรียนแบบ
ชาวเชียงใหม่ พวกท่านก็ต้องเข้าไปดูแล จัดการปัดเป่าปัญหาผ่านกระบวนการตรวจสอบอย่างที่ผมนำเสนอไปแล้ว ไม่ใช่ปล่อยฝ่ายบริหารออกไปรับหน้า แล้วก็มาออกแถลงการณ์เชิงปกป้ององค์กรแบบที่ไม่ผ่านการตรวจสอบ
อย่าลืมว่าตามกฎหมายท่านเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ก็ย่อมถูกร้องเรียนจากทาง ป.ป.ช.ได้ ถ้าคนรักเชียงใหม่จะเอาจริงเขาไปร้องท่านกับ ป.ป.ช. รับรองสนุกแน่ ไม่ว่าผลจะออกมายังไงก็ตาม
ท่านกรรมการนโยบายอย่าประมาทในเรื่องทำนองนี้ การที่องค์กรนี้ตั้งมา 11 เดือนแล้วยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันในเรื่องการตรวจสอบจากสังคมได้ มันเป็นเรื่องที่ท่านต้องถามตัวเองว่า ท่านกำลังละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่หรือไม่
เรื่องนี้คงต้องว่ากันอีกยาว
ตอนนี้ขอย้อนมาดูการ “แก้เกม” ฝ่ายปฏิบัติการ คือ ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการลงมา นั่นคือ การที่ทาง รองผู้อำนวยการฝ่ายข่าว (คงจะได้รับอนุมัติจากผู้อำนวยการ) ยกคณะไปยื่นหนังสือให้นายกฯ ถึงทำเนียบโดยบอกว่าขอให้นายกฯ คุ้มครองสื่อ
ภาพที่ออกมาทางผู้บริหารทีวีไทยคงคิดว่าจะเป็นการกดดันรัฐบาลได้ แต่ท่านคงลืมว่าการไปขอให้นายกฯ คุ้มครองนั้น ท่านกำลังติดกับเกมการเมืองที่ท่านถนัดเล่นมาตอนท่านบริหารสื่อเอกชน ทั้งๆ ที่วิธีนี้ไม่สมควรจะใช้อย่างยิ่งกับสื่อสาธารณะ
การไปสร้างภาพแบบนี้ให้สังคมเห็นทำนองว่านายกฯ อยู่เบื้องหลังการร้องเรียนแบบนี้ มันอาจจะดูดีในสายตาพันธมิตรฯ แต่ในสังคมที่เขารู้เรื่องสื่อสาธารณะบ้างมันช่างน่าเศร้าเพราะมันเหมือนท่านไม่เชื่อมั่นในความเป็นอิสระ และระบบตรวจสอบในองค์กร
ถ้าท่านจะเชิญเขามาคุ้มครอง รัฐบาลอาจจะเข้ามาดูแลท่านอย่างใกล้ชิดรวมทั้งตรวจสอบว่า ท่านได้ทำอะไรไปอย่างไร ข่าวนั้นเป็นจริงหรือเท็จอย่างไร ท่านก็อาจจะพูดไม่ออกว่าท่านโดนแทรกแซง เพราะท่านไปเชื้อเชิญเขาเข้ามาเอง
อีกไม่นาน สื่อสาธารณะจะครบ 1 ปีแล้ว ถ้าผู้บริหารระดับสูงยังไม่ลุกขึ้นมาสร้างกลไกประกันความเป็นสาธารณะขององค์กรนี้ ผมเกรงว่าอีกไม่นานสังคมอาจจะอนุญาตให้คนนอกเข้ามา “ผ่าตัด” องค์กรของท่านเพื่อให้เกิดความเป็นสาธารณะตามอุดมคติก็ได้
เมื่อถึงเวลานั้น ผมไม่อยากพูดว่า
“เราเตือนคุณแล้ว”