พิษ!งาบดับเพลิงฉาวทำ'หล่อเล็ก'พ้นเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. แถมยังต้องถลุงงบฯจัดเลือกตั้งซ่อมอีก 150 ล้าน แนะปชป.แบ่งเงินผีโต๊ะจีน!ช่วยกกต.
เรื่องเด่นเรื่องดังสถานการณ์ทางการเมืองเวลานี้ ที่กำลังดังกระฉ่อนคงหนี้ไม่พ้นเรื่องหล่อเล็กสละเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ระฆังยก 2 ดังให้เริ่มงานได้เพียงแค่เดือนเศษๆ ก็ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้ขาดคดีทุจริตการจัดซื้อรถดับเพลิงมูลค่ากว่า 6,600 ล้านบาท ให้นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม.มีความตามผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ
ซึ่งตามกฎหมายแล้วไม่ต้องถึงขั้นลาออก เพียงแค่หยุดทำหน้าที่ชั่วคราวแล้วรอให้คดีความดำเนินไปตามกระบวนการยุติธรรมให้ถึงที่สุด รอว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่าอย่างไรแล้วค่อยว่ากัน ระหว่างนั้นก็ให้รองผู้ว่าฯ ทำการแทน แต่พ่อหล่อเล็กก็ได้แสดงสปิริตด้วยการลาออกจากตำแหน่งซะเลย ปล่อยให้กกต.ทำการเลือกตั้งใหม่ถลุงงบประมาณเงินภาษีของพี่น้องประชาชนไปซะ 150 ล้านบาท สบายใจจริงๆ
อย่างนี้ก็เข้าทางเฮียชูวิทย์ ที่เหน็บแนมไว้ตั้งแต่แพ้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งที่ผ่านมา คราวนี้หลังจากคระกรรมการ ป.ป.ช.ลงมติ 9:0 บอกหล่อเล็กผิดปุ๊บ เฮียชูวิทย์แกก็เปิดแถลงข่าวปั๊บ! ขึ้นป้ายหาเสียงอันเบ่อเร่อตรงทางด่วน ซึ่งงานนี้ไม่หวังอะไรมาก ของแค่มาวินเท่านั้นพอ!
ลองมาย้อนเวลาหาอดีตทบทวนถึงอภิมหาโครงการทุจริตจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย มูลค่า 6,687 ล้านบาท ของ กทม. กันสักหน่อยว่าโครงการนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ลำดับยเหตุการณ์น่าสนใจไม่น้อย
เริ่มต้นวันที่ 28 พ.ค. 2546 บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเซียลฟาย์ซอย์ ประเทศออสเตรีย มีหนังสือถึง รมว.มหาดไทย เพื่อเสนอราคารถดับเพลิง วันที่ 22 ก.ค. 2546 นายประชา มาลีนนท์ รมช.มหาดไทย มีบัญชาให้ กทม.พิจารณา วันที่ 4 มี.ค. 2547 นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าฯ กทม. สมัยนั้น มีหนังสือเรียน รมว.มหาดไทย ขออนุมัติโครงการเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ โดยใช้เงินงบประมาณ 7,847,660,150 บาท ดำเนินการแบบรัฐต่อรัฐ (ภายหลังลดราคาลงเหลือ 6,687,489,000 บาท) วันที่ 22 มิ.ย. 2547 ครม.มีมติอนุมัติในหลักการตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยมติ ครม.ส่วนหนึ่งระบุว่า ส่วนที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศให้นำเข้าเฉพาะส่วนที่จำเป็นและที่ไม่มี หรือที่ไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศไทยเท่านั้น วันที่ 30 ก.ค. 2547 รมว.มหาดไทย และเอกอัครราชทูตออสเตรียร่วมลงนามข้อตกลงความเข้าใจ (เอโอยู)ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลออสเตรีย วันที่ 4 ส.ค. 2547 พล.ต.อ.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย มีหนังสือเรียน กรมการค้าต่างประเทศดำเนินการทำ การค้าต่างตอบแทน (เคาน์เตอร์เทรด) โดยด่วน
วันที่ 11 ส.ค. 2547 นายสมัครเห็นชอบคุณลักษณะเฉพาะของสิ่งของที่จะซื้อ วันที่ 27 ส.ค. 2547 นายโภคิน พลกุล รมว.มหาดไทย อนุมัติการจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ ขณะที่ผู้ว่าฯ กทม. และบริษัท สไตเออร์ ร่วมลงนามในเอโอยู โดยกำหนดให้ กทม.ต้องเปิดแอลซี (Letter of Credit) ภายใน 30 วัน นับแต่มีการลงนามซื้อขาย
วันที่ 29 ส.ค. 2547 นายอภิรักษ์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.ต่อจากนายสมัคร วันที่ 23 ก.ย. 2547 นายอภิรักษ์ขอขยายเวลาการเปิดแอลซีออกไปอีก 1 เดือน วันที่ 27 ก.ย. 2547 นายอภิรักษ์มีหนังสือแจ้งธนาคารกรุงไทยให้ระงับการเปิดแอลซี วันที่ 30 ก.ย. 2547 นายอภิรักษ์มีหนังสือเรียน รมว.มหาดไทย ให้พิจารณาทบทวนการจัดซื้อ วันที่ 7 ต.ค. 2547 นายสมศักดิ์ คุณเงิน เลขานุการ รมว.มหาดไทย มีหนังสือแจ้ง กทม. ให้ดำเนินการเปิดแอลซีเพื่อไม่ให้ผิดสัญญา วันที่ 12 ต.ค. 2547 นายอภิรักษ์มีหนังสือถึงรมว.มหาดไทย เพื่อขอให้ทบทวนอีกครั้ง
วันที่ 5 พ.ย. 2547 รมว.มหาดไทย มีหนังสือสั่งการผู้ว่าฯ กทม. ว่าสัญญาการค้าต่างตอบแทนถูกต้องแล้ว วันที่ 10 ม.ค. 2548 นายอภิรักษ์มอบหมายให้นายนิยม กรรณสูต ผู้อำนวยการสำนักป้องกันฯ เป็นผู้รับมอบอำนาจในการเปิดแอลซีในช่วงปี 2549 มีการส่งมอบรถและเรือดับเพลิงมาเก็บไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ถัดมามีการร้องเรียนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ และต่อโอนไปให้ คตส. สอบสวน ต่อมา คตส.หมดอายุใน วันที่ 30 มิ.ย. 2551 จึงได้โอนคดีไปให้ ป.ป.ช.สอบสวน และมีมติชี้มูลความผิดเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2551
ก็เห็นว่าคุยฟุ้ง... จัดงานระดมทุนเตรียมเม็ดเงินเพื่อการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้เงินทะลุเป้า 200-300 ล้านบาท แบ่งเงินมาใช้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก่อนขนหน้าแข็งคงไม่ล่วงหรอกมั้งทั่นหัวหน้าพรรค