วันที่ 20 พ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสุเมธ อุปนิสากร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จะส่งหนังสือชี้แจงกรณีการจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” มายัง กกต.ให้เร่งดำเนินการสอบสวน ว่าหลังจากที่อนุกรรมการไต่สวนฯ สรุปสำนวนและส่งให้ กกต.ก็คาดว่า กกต.จะใช้เวลา 1-2 วัน ในการวินิจฉัยและสรุป ทั้งนี้ ยืนยันการพิจารณาเรื่องคุณสมบัติ ของนายกรัฐมนตรี ไม่รู้สึกกดดัน แม้นายสมัครจะอ้างว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความพยายามของคนที่จ้องล้มเพื่อต้องการให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนการพิจารณา กกต.จำเป็นต้องตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯขึ้นมา เนื่องจากมีผู้ร้องไม่เช่นนั้น กกต.จะถูกร้องเรียนว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยอีกไม่นาน 1-2 วัน ก็ได้ข้อสรุป และ กกต.ก็จะพิจารณาตามข้อเท็จจริงว่านายสมัครเป็นลูกจ้างหรือรับจ้างทำ เมื่อได้ข้อเท็จจริงครบแล้ว กกต.ก็จะพิจารณาอีกครั้ง โดยดูตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ที่ห้ามนายกรัฐมนตรีเป็นลูกจ้างบริษัท ย้ำตีความ “ลูกจ้าง” ตาม ก.ม.แพ่ง นายสุเมธกล่าวด้วยว่า เรื่องนี้ก็จะต้องดูว่านายสมัครชี้แจงว่าอย่างไร ซึ่งกรณีที่นายสมัครอ้างว่าเป็นการรับจ้าง ไม่ได้แปลว่าลูกจ้างนั้น กกต.จะต้องเป็นผู้ตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 โดยต้องตีความว่าลูกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่ง ก็หมายถึงการเป็นลูกจ้างรายเดือน แต่คำว่ารับจ้าง กกต.ก็ต้องตีความ ซึ่งตามความเข้าใจของตนน่าจะหมายถึงการรับจ้างเป็นงานๆ เช่น รับจ้างดายหญ้า ทำงานเสร็จก็จบ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ต้องดูตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วย ขณะนี้ กกต.ยังพูดอะไรไม่ได้มาก เพราะต้องรอดูการชี้แจงของนายสมัครเช่นกัน กกต.ตั้งอนุสอบ “สมัคร” จัดรายการ ทางด้านนางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวว่า ขณะนี้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้ประสานหรือส่งเจ้าหน้าที่มาชี้แจง กกต. ถึงกรณีการจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” ในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากมีผู้ร้องเรียนเมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่าการกระทำของนายสมัครลักษณะนี้เป็นการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจจะเคร่งครัดต่อนักการเมืองมาก คือ ไม่ต้องการให้นักการเมืองเข้าไปมีผลประโยชน์ ทับซ้อนระหว่างดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยห้ามนายก-รัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี มีตำแหน่งในนิติบุคคลใดๆ รวมทั้งห้ามเป็นลูกจ้างของบุคคลใด ซึ่งคำว่า “ลูกจ้างของบุคคลใด” เข้าข่ายตามกฎหมายแรงงานหรือไม่ หรือเข้าข่ายในลักษณะที่เป็นการจ้างทำ โดยขณะนี้ กกต.ได้ลงมติให้คณะอนุกรรมการที่ 14 ที่มี พล.อ.ยอดชาย เทพยสุวรรณ เป็นประธานสอบสวนภายใน 15 วัน และสรุปผลส่งให้ที่ประชุม กกต. “สมัคร”ตกเก้าอี้ทันทีหากขัดรธน. นางสดศรีกล่าวต่อว่า สำหรับหลักวินิจฉัยต้องดูเรื่องสัญญาการว่าจ้างว่าเป็นสัญญาอะไร หากไม่มีสัญญา กกต. ก็ต้องเชิญเจ้าของบริษัท หรือกรรมการบริษัทมาสอบปากคำ แต่ก็ขึ้นอยู่กับอำนาจของคณะอนุกรรมการฯ ทั้งนี้ การจะวินิจฉัยว่าการจัดรายการจะมีลักษณะเป็นลูกจ้างประจำหรือไม่ประจำ ก็ต้องดูตามกฎหมายว่ามีการว่าจ้างกันจริงหรือไม่ อย่างไร โดย กกต.อาจจำเป็นต้องประสานไปที่กระทรวงแรงงานและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอข้อมูลที่เป็นสัญญาการว่าจ้าง มาใช้เป็นหลักฐานเพิ่มเติมด้วย เมื่อถามว่า ขณะนี้นายสมัครระบุว่าได้ยุติบทบาทการจัดรายการแล้ว จะมีผลต่อการสอบสวนหรือไม่ นางสดศรี ตอบว่า การที่มีตำแหน่งในนิติบุคคล เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี หรือนายกฯ แล้วจะต้องลาออกภายใน 30 วัน ตามมาตรา 268 แต่หากเป็นกรณีที่มีการดำรงตำแหน่งแล้วไม่ลาออก ถือว่านายสมัครไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 268 การที่นายสมัครยุติบทบาทขณะนี้ ก็ถือว่าไม่มีผล เมื่อถามอีกว่า กกต.จะสามารถวินิจฉัย หรือส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ นางสดศรีตอบว่า ในมาตรา 267 และ 268 ไม่ได้เขียนว่าให้ กกต.ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถ้าหากขัดตามมาตรา 268 ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี จะสิ้นสุดลงทันที กกต.สามารถวินิจฉัยได้ ป.ป.ช.เล็งสอบ “สมัคร” จัดรายการ ขณะที่ น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ สัมภาษณ์ถึงกรณีการจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” ของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีที่อาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ที่ห้ามนายกฯเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชนว่ายังตอบไม่ได้ว่าการเป็นผู้ดำเนินรายการของนายสมัครจะเข้าข่ายการเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชนหรือไม่ แต่ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่มีคำว่ารับจ้างอยู่ในกฎหมาย มีแต่คำว่าลูกจ้าง ไม่ทราบว่านายสมัครใช้กฎหมายฉบับไหน ที่บอกว่าเป็นการรับจ้าง และส่วนตัวมองว่าคำว่ารับจ้างกับลูกจ้างมีความหมายไม่ต่างกัน ซึ่งคำว่าลูกจ้างจะแบ่งเป็นการจ้างแรงงานกับการจ้างทำของกรณีของนายสมัครจะเป็นลูกจ้างหรือไม่ ต้องดูว่ามีการทำสัญญาว่าจ้างระหว่างนายสมัครกับบริษัทเอกชนหรือไม่ หากมีการทำสัญญาว่าจ้างก็เข้าข่ายเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน รวมถึงต้องดูลักษณะการจ่ายเงินค่าตอบแทนว่าเป็นการจ่ายค่าตอบแทนในลักษณะใดถ้าเป็นการให้ในลักษณะค่าน้ำมันหรือค่าเดินทางก็ไม่เข้าข่าย ซึ่ง ป.ป.ช.ให้ความสนใจเรื่องนี้และจะหยิบยกมาหารือในที่ประชุม ป.ป.ช.ต่อไป “เจิมศักดิ์”เย้ยชิมแล้วช่วยไม่ได้ ด้านนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ส.ร.ปี 50 กล่าวถึงการระงับรายการ “ชิมไปบ่นไป” ของนายกรัฐมนตรีว่า อยากรู้ว่าถ้านายสมัครไม่ได้เป็นนายกฯจะได้เวลาของสถานีโทรทัศน์หลายช่องอย่างนี้หรือไม่ และทางสถานีก็คงไม่กล้าปรับผังรายการเพราะความเกรงใจ ซึ่งคำพูดของนายกฯที่ว่าได้สั่งให้ยกเลิกรายการไปแล้ว ตรงนี้ถ้าเป็นเพียงผู้รับจ้างอย่างที่อ้าง จะมีอำนาจสั่งยกเลิกรายการได้หรือ การพูดเช่นนี้ก็เท่ากับยอมรับผิดไปส่วนหนึ่งแล้ว เรื่องนี้ผู้ชี้ขาดคือศาลรัฐธรรมนูญ ถึงนายสมัครจะไปออดอ้อนกับ กกต.ว่าขอให้ลงโทษเพียงตักเตือน แต่ตนคิดว่า กกต.ไม่มีอำนาจหน้าที่จะไปลดหย่อนโทษได้ เพราะมีหน้าที่แค่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเท่านั้น และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจไปลดโทษได้เช่นกัน ต้องพิจารณาไปตามความผิด กรณีของนายสมัครก็เหมือนกับ ป.ป.ช.ที่ออกระเบียบเพิ่มค่าตอบแทนให้ตัวเอง ซึ่งเปรียบเสมือนการขโมยควายที่ถือเป็นความผิดสำเร็จ ดังนั้น การที่นายสมัครได้อ้าปากชิมเข้าไปแล้วจึงช่วยไม่ได้ เป็นการตายน้ำตื้น