ศาลอาญายกฟ้องคดี “สัก กอแสงเรือง” ฟ้องรองอัยการสูงสุด “วัยวุฒิ หล่อตระกูล” หมิ่นประมาท จากคำให้สัมภาษณ์ที่ระบุ “เฮงซวย” ศาลพิเคราะห์ เป็นการชี้แจงและแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่เป็นการใส่ความ ถึงแม้จะมีคำพูดไม่เหมาะสม ก็ต้องเป็นการพิจารณาความผิดทางวินัย จากกรณีที่ นายสัก กอแสงเรือง โฆษกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด เป็นจำเลย ในความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร
โดยอ้างถึงการที่นายวัยวุฒิ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน กรณีที่ คตส. ฟ้องคดีหวยบนดินเอง หลังจากอัยการสูงสุดมีความเห็นให้มีการพิจารณาเพิ่มเติม มีใจความตอนหนึ่งว่า “...นายสักมาจากทนายเอกชน ไม่รู้เรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน ผมได้รับแต่งตั้งจาก อสส. ตามหนังสือเลขที่ 590/2550 ให้เป็นประธานคณะทำงานอัยการพิจารณาสำนวนคดีของ คตส. ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 อยากถามว่ามีสิทธิ์อะไรมาตรวจสอบ อยากให้มองตัวเองเสียก่อน เฮงซวย ผมชักอยากเจอแล้วสิ และที่ออกมาพูดว่าอัยการไม่ได้เปิดสำนวนต้นฉบับ ยังผนึกเหมือนตอนที่ส่งไป ให้สัมภาษณ์ทุเรศอย่างนี้ได้อย่างไร...”
กรณีดังกล่าวในวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำสั่งในคดีที่ นายสัก กอแสงเรือง เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล ในความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน และหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กรณีให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนต่อว่านายสักด้วยถ้อยคำไม่สุภาพ โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ถ้อยคำให้สัมภาษณ์ของจำเลยเป็นการชี้แจงและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น แม้จะมีคำพูดไม่เหมาะสม ก็ไม่ใช่เป็นการใส่ความ
ส่วนความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน เป็นอำนาจของศาลแขวง ไม่มีเหตุที่ศาลอาญาจะรับไว้พิจารณา ส่วนความผิดการใช้วาจาไม่เหมาะสม เป็นความผิดทางวินัยของข้าราชการอัยการ ไม่ใช่ความผิดทางอาญา ดังนั้น ศาลอาญาจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย พิพากษาให้ยกฟ้อง และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ