WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, May 20, 2008

รธน. มีที่มาจากรัฐประหาร มักจะอายุสั้น



หากไม่นับธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ซึ่งมีที่มาจากการรัฐประหาร ที่นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และประกาศใช้เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2502 จนถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2511 เป็นระยะเวลา 9 ปี 4 เดือน 23 วัน แล้ว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ซึ่งมีที่มาจากการรัฐประหารทุกฉบับ มักจะมีอายุสั้น

ที่มีอายุการใช้บังคับยาวนานที่สุด ก็เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 ซึ่งมีที่มาจากการรัฐประหารของคณะ รสช. มีอายุการใช้บังคับนาน 5 ปี 10 เดือน 2 วัน

รองลงมาได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 ซึ่งจัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหาร และใช้เวลาร่างถึง 9 ปีเศษ แต่ใช้บังคับได้เพียง 3 ปี 4 เดือน 21 วัน

รองลงมาอีกคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ซึ่งมีที่มาจากการรัฐประหาร ภายใต้การนำของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ มีอายุการใช้บังคับเพียง 2 ปี 7 เดือน 6 วัน

นอกนั้นก็เป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรซึ่งมีที่มาจากการรัฐประหาร และมีอายุการใช้บังคับค่อนข้างสั้น คือ ไม่ถึง 2 ปีบ้าง ปีครึ่งบ้าง ปีเศษบ้าง 1 ปีพอดีบ้าง หรือแค่ 9 เดือนก็ยังมี

ดังนั้น ถ้าไม่นับธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ที่กล่าวข้างต้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว และธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร จำนวน 9 ฉบับ ซึ่งมีที่มาจากการรัฐประหาร ปรากฏว่ามีอายุการใช้บังคับเป็นเวลารวมกันเพียง 17 ปี 1 เดือน 13 วัน

ต่อให้เอาอายุการใช้บังคับของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 มารวมด้วยเป็น 10 ฉบับ ก็จะมีอายุการใช้บังคับรวมกันแค่ 26 ปี 6 เดือน 6 วัน ทั้งนี้ ไม่นับพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งมีอายุการใช้บังคับเพียง 5 เดือน 13 วัน เพราะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรมาประกาศใช้

ในทางกลับกัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีที่มาโดยวิถีทางของกฎหมาย หรือมาจากความเห็นชอบของรัฐสภา หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามกระบวนการของรัฐสภา กลับมีอายุการใช้บังคับค่อนข้างยาวนานเกือบทุกฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้น และเสนอสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้นั้น เป็นรัฐธรรมนูญที่มีอายุการใช้บังคับยาวนานที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง คือ 13 ปี 4 เดือน 29 วัน

ส่วนอันดับสอง เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ มีอายุการใช้บังคับยาวนานถึง 12 ปี 2 เดือน 1 วัน

อันดับสาม คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนและรัฐสภาร่วมกันเลือก เป็นผู้จัดทำขึ้นและเสนอรัฐสภาให้ความเห็นชอบ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ มีอายุการใช้บังคับยาวนานถึง 8 ปี 11 เดือน 9 วัน

และอันดับสี่ ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรทำการแก้ไขปรับปรุงจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2475 จนสมบูรณ์ขึ้นมาก แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ มีอายุการใช้บังคับเป็นเวลา 6 ปี 7 เดือน 12 วัน

เพราะฉะนั้น เฉพาะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จำนวน 4 ฉบับ ซึ่งมีที่มาโดยวิถีทางของกฎหมาย หรือผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามกระบวนการของรัฐสภา ก็มีอายุการใช้บังคับรวมกันเป็นเวลานานถึง 41 ปี 1 เดือน 21 วัน ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากรัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาจากการรัฐประหาร อย่างมีนัยสำคัญทีเดียว

จะมีรัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาโดยวิถีทางของกฎหมาย หรือผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีอายุสั้นหน่อยก็แค่ 2 ฉบับ ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ซึ่งใช้บังคับเป็นเวลา 2 ปี พอดี และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ซึ่งใช้บังคับเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน แต่รัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ก็สิ้นสุดอายุการใช้บังคับโดยการรัฐประหาร

นอกจากนั้น ถ้าเปรียบเทียบอายุการใช้บังคับของรัฐธรรมนูญซึ่งจัดทำขึ้นโดย “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ด้วยกัน ที่ผ่านมา 3 ฉบับ ก็ยังจะเห็นความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญอยู่ดี โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ตั้งโดยคณะรัฐประหาร ภายใต้การนำของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ มีอายุการใช้บังคับเพียง 2 ปี 7 เดือน 6 วัน และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2502 ซึ่งจัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ตั้งโดยคณะรัฐประหารภายใต้การนำของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีอายุการใช้บังคับเป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน 29 วัน

ในขณะที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนและรัฐสภาร่วมกันเลือก จัดทำขึ้นโดยคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ รวมทั้งได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามวิถีทางของกฎหมาย มีอายุการใช้บังคับยาวนานถึง 8 ปี 11 เดือน 9 วัน ซึ่งถ้าไม่ถูกยกเลิกโดยคณะปฏิรูปการปกครองฯ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เสียก่อน โอกาสที่จะกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่มีอายุการใช้บังคับยาวนานที่สุดของประเทศไทย ก็ไม่น่าจะไกลเกินฝัน

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารเป็นผู้ตั้งขึ้น โดยไม่นำไปขอความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือผ่านกระบวนการทางรัฐสภา จะมีอายุการใช้บังคับได้ยาวนานสักเท่าใด เพราะยังไม่ทันที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีอายุการใช้บังคับได้ถึงปีดี สัญญาณอันตรายในรูปแบบต่างๆ ก็มีปรากฏให้เห็นหลายอย่าง จนชักไม่แน่ใจแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไปรอดหรือไม่ และถ้าไปไม่รอด อะไรจะเกิดขึ้น

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็ไม่มีอะไรมาก เพียงแต่อยากจะเตือนสติทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารซึ่งคุมกำลังในกองทัพของชาติว่า การรัฐประหารไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะสามารถคลี่คลายปัญหาวิกฤติ การเผชิญหน้า หรือความรุนแรงใดๆ ในทางการเมืองได้ ตรงกันข้าม กลับจะทำให้ความไม่แน่นอน ความขัดแย้ง และความรุนแรงต่างๆ ดำรงอยู่และขยายตัวจนกลายเป็นวิกฤติระลอกแล้วระลอกเล่า อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ขณะเดียวกัน ก็อยากจะเตือนสตินักการเมืองทั้งฝ่ายที่พยายามสร้างเงื่อนไขปฏิวัติ จะโดยจงใจหรือโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม และฝ่ายที่พยายามจุดชนวนยุยงให้ทหารปฏิวัติ หรือยุให้คนไทยตีกันทุกวันด้วยว่า “ขอให้ยุติพฤติกรรมทำลายชาติ” เสียที

คณิน บุญสุวรรณ