ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เสนอทำประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ความเป็นจริงพรรคพลังประชาชนได้ทำประชามติมาตั้งแต่ต้นแล้ว เมื่อครั้งใช้การหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยได้บอกตลอดว่า หากเลือกพรรคพลังประชาชนจนเป็นเสียงข้างมาก พรรคจะแก้ไขบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งหากประชาชนเห็นด้วยก็ให้เลือกพรรคพลังประชาชน ซึ่งประชาชนได้เลือกมา 233 ที่นั่ง
“เห็นด้วยกับการทำประชามติ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี จะได้ลดความขัดแย้ง จะได้ไม่ต้องมาทะเลาะกัน จะได้ไม่ต้องมาชุมนุมเรียกร้องให้เกิดภาพลบต่อประเทศ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญหากเสร็จแล้ว จะไปย้อนหลังไปแก้ไขคดีความของอดีตนายกรัฐมนตรีคงไม่ได้ คดีขึ้นศาลต้องอยู่ที่ศาล คดีอยู่ คตส.ขึ้นอยู่กับ คตส.“ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
ร.ต.อ.เฉลิม ยังกล่าวถึง หนังสือพิมพ์ผู้จัดการด้วยว่า ที่ไปเสนอข่าวบอกการแก้ไขรัฐธรรมนูญนเป็นการฟอกตัวนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะคดีมีอยู่แล้ว โดยหากสมมุติว่า วันนี้ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เกิดกลั้นใจตายกันทั้งหมด คดีจะต้องไปอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) คดีที่มีอยู่จึงไปเลิกได้อย่างไร ขณะที่การจะยกเลิกองค์กรอิสระก็ไม่ใช่ เพราะอย่างไรองค์กรอิสระต้องมี แต่คนที่ทำหน้าที่ในองค์กรอิสระนั้นต้องมาจากการสรรหา โดยผ่านสภา ผ่านวุฒิสภา ไม่ใช่มาจากการแต่งตั้งของกลุ่มคนเพียงบางกลุ่มที่ไม่ได้มีฐานรากมาจากประชาชน
ส่วนที่กล่าวอ้างว่า การทำประชามติเป็นการเปลืองงบประมาณ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า หากไม่ทำประชามติ ก็ด่าว่ารวบหัวรวบหาง แต่พอจะทำประชามติ ก็บอกว่าเปลืองงบประมาณ สรุปแล้วจะเอาอย่างไร บ้านเมืองจะได้สงบ
“ผมไม่เห็นด้วยจะตั้ง ส.ส.ร.3 เพราะรู้กันอยู่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร รัฐธรรมนูญปี 40 ดีให้เอามาเป็นตัวตั้ง แล้วเอารัฐธรรมนูญปี 50 ใส่เข้าไปบ้าง ส่วนองค์กรอิสระให้มีเหมือนเดิม แก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้ยุบพรรค ที่บ้านไหนเมืองไหน เขาไม่มี มีอยู่เมืองไทย” รมว.มหาดไทย กล่าว
ขณะที่ การเสนอทำประชามติจะระยะเวลาเท่าใดนั้น รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ต้องรอวันอังคารหน้า เพราะตอนนี้ยังไม่ทราบในรายละเอียด แต่ก็ไม่เห็นด้วย เพราะได้ขอประชามติมานานแล้วตั้งแต่สมัยเลือกตั้ง หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่แก้ก็ไม่เป็นไร พรรคพลังประชาชนจะแก้ แต่หากว่า แก้ไขในรัฐธรรมนูญแล้วไม่ดีเลือกตั้งรอบหน้าประชาชนก็ไม่เลือก
“ให้ถึงเวลาก่อน ผมจะอภิปรายเรื่องนี้โดยละเอียดว่า ทำไมถึงต้องแก้วรรคนี้ ทำไมถึงไม่แก้วรรคนี้ ตรงนี้ทำไมถึงเอาปี 40 มา ทำไมถึงไม่เอาปี 50 หรือทำไมต้องเอาปี 50 ไว้ คิดว่าไม่มีปัญหาเลย” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว