วิพากษ์คนอื่นมามากแล้ว คราวนี้ สื่อจึงกลายเป็นเป้าของการวิพากษ์บ้าง ในเวทีการเสวนาของสมาคมนักข่าวฯ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า ความขัดแย้งในสังคมไทย ไม่ได้ขัดแย้งกันในเรื่องประเด็น แต่ขัดแย้งเรื่องพวกส่วนตัว สื่อถูกบังคับโดยปริยายให้ เลือกพวก แม้ใครจะพยายามวางตัวอยู่ตรงกลาง ก็ไม่มีใครฟัง สังคมไทยจึงเป็น “สังคมอัมพฤกษ์” เคลื่อนไหวไม่ได้ท่ามกลางความขัดแย้ง ในเวทีเดียวกัน นักวิชาการอีกท่านหนึ่ง คือ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ พูดถึงสื่อกับความรุนแรงใน 3 ประเด็น คือ สื่อเป็นอาวุธผลิตความเกลียดชังและความกลัว สื่อเป็นศูนย์บัญชาการให้เกิดสถานการณ์รุนแรง และสื่อทำให้สังคมรู้สึกว่าไม่มีทางออก ต้องใช้ความรุนแรงเพียงอย่างเดียว พร้อมทั้งเสนอทางออก ให้สื่อยึดความเป็นมืออาชีพ และเรียกร้องอยากเห็นสื่ออารยะ คือสื่อที่มีมารยาท นักวิชาการอีกท่านหนึ่ง ซึ่งร่วม ในวงเสวนา คือ รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันสื่อเลือกข้างสูงกว่าการทำหน้าที่ เพราะความยัดแย้งทางการเมือง มีความเป็นสื่อการเมืองสูง และกำลังย้ายตัวเองมาสู่รูปแบบการทำงานสื่อโฆษณาชวนเชื่อมากขึ้น จากที่เคยทำหน้าที่เป็นนายทวาร เพื่อให้หลายๆฝ่ายมาเสวนาและอภิปราย สื่อที่เป็นอิสระจากอำนาจรัฐ ก็มาทำหน้าที่ตรงนี้ด้วย น่าเสียดาย ที่ส่วนใหญ่เป็นการพูดถึง “สื่อ” โดยรวม ไม่ได้แยกว่าเป็นสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หรือสื่อหนังสือพิมพ์ ในอดีตสื่อที่เคยมีอิทธิพลมากที่สุดในการปลุกระดมความรุนแรง คือ วิทยุและโทรทัศน์ แต่หนังสือพิมพ์ก็อาจมีส่วนอยู่บ้าง ทั้งในอดีตและปัจจุบัน วิทยุและโทรทัศน์เป็นของรัฐ หรืออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ มีรัฐบาลและรัฐมนตรีบางคนพยายามทำให้เป็นกระบอกเสียงรัฐบาล เคยเกิดเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองถึงขึ้นนองเลือด ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลายหน เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เป็นต้น ที่เห็นได้ชัดเจนว่ามีอิทธิพลของสื่อมวลชน ก่อให้เกิดความรุนแรง คือเหตุการณ์ 6 ตุลาคม โดยใช้ทั้งวิทยุกระจายเสียงและหนังสือพิมพ์ สร้างความเกลียดชัง ความ เคียดแค้น และการฆ่า สื่อมักจะชอบอ้างว่า ตนเป็น “กระจก” ของสังคม คราวนี้ จะต้องหันหน้าไปส่อง “กระจก” ของคนอื่นบ้าง เป็นกระจกจากนักวิชาการ ที่ยื่นมาให้สื่อส่องดูตัวเอง และสะท้อนภาพสื่ออย่างเป็นระบบ สื่อในฐานะที่อาจจะมีบทบาทหรืออิทธิพลต่อความรุนแรงทางการเมืองได้ ก็ต้องถูกตรวจสอบเช่นเดียวกับองค์กรอื่นๆ ผู้ตรวจสอบคือประชาชน ผู้อ่าน ผู้ฟัง ผู้ชม รวมทั้งตรวจสอบกันเองและโดยกฎหมาย ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง สื่อจะต้องยึดหลักวิชาชีพให้มั่นคง ทำหน้าที่เป็นตลาดเสรีของความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ เสนอข่าวทุกฝ่ายอย่างสมดุลและเป็นธรรม ส่วนการแสดงความคิดเห็น จะต้องกระทำโดยปราศจากอคติ ไม่ว่าจะเป็นฉันทาคติ ลำเอียง เพราะชอบพอ โทสาคติ ลำเอียงเพราะโกรธหรือเกลียด โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลง และภยาคติ ลำเอียงเพราะความกลัว.