ประธานสภา “ชัย ชิดชอบ” เชื่อ ทหารไม่ทำปฏิวัติ ชี้ให้ใช้ สภาเป็นเวทีขจัดความขัดแย้ง ยืนยัน ญัตติแก้ไข รธน.ที่ยื่นเข้ามา เดินหน้าต่อ เพราะเป็นสิทธิของ ปชช. ไม่เกี่ยวกับการลงประชามติ
ทั้งนี้ เมื่อช่วงเช้า (22 พ.ค.) ที่ผ่านมา ที่รัฐสภา นายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (คปพร.) เดินทางแสดงความยินดีมอบกระเช้าดอกไม้ให้กำลังใจ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในโอกาสรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นประธานสภาฯ
โดย นายจรัล และ นพ.เหวง ได้แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์การเมืองการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550
ขณะที่ ประธานสภาคนใหม่ กล่าวว่า ไม่ต้องเป็นห่วงสถานการณ์ เชื่อว่าไม่มีการทำรัฐประหารแน่นอน เพราะทหารคงไม่ออกมาปฏิวัติอีกแล้ว โดยทหารส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการแสวงหาอำนาจ และเชื่อว่าผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบันคงไม่ยอมให้มีการปฏิวัติ
“องค์พระประมุขของเราจะใช้บารมีคุ้มครองเราให้รอดพ้นจากปัญหาต่างๆ ได้ ถ้าเกิดเหตุเช่นวันที่ 19 ก.ย.อีก บ้านเมืองจะไปไม่รอด ผมเชื่อว่าพระสยามเทวาธิราชจะคุ้มครอง ไม่ต้องห่วงหรอกครับ ปัญหาต่างๆ แก้ด้วยสนามการเมืองคือรัฐสภา สภาเท่านั้นจะเป็นสนามระหว่างฝ่ายค้าน และฝ่ายสนับสนุน พันธมิตรฯ ก็ต้องมาเล่นตรงนี้ คปพร.ก็ต้องมาเล่นตรงนี้ เอาสนามนี้เป็นหลัก” นายชัย กล่าว
ต่อข้อถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีเสนอให้ทำประชามติ ขอความเห็นจากประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนของที่มีการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้แล้วจะต้องถอนญัตติก่อนหรือไม่ นายชัย กล่าวว่า การดำเนินการจะเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 2544 โดยจะต้องบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมภายใน 15 วัน ส่วนการทำประชามติเป็นเรื่องของฝ่ายรัฐบาลที่ต้องการให้บ้านเมืองมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และต้องการฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะการทำประชามติที่ผ่านมามีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
“ส.ส.และภาคประชาชนไม่จำเป็นต้องถอนญัตติ ขณะนี้มีความเข้าใจไขว้เขวกันมาก หากดูข้อบังคับการประชุมรัฐสภาปี 44 จะเห็นว่า ต้องบรรจุญัตติเข้าสู่วาระการประชุมภายใน 15 วัน เมื่อมีการเปิดสมัยประชุมสภา ไม่ใช่นับจากวันยื่นญัตติ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องถอนญัตติ” นายชัย กล่าว
นอกจากนี้ การทำประชามติก่อนการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ จะไม่มีปัญหากับญัตติใที่เสนอเข้ามาด้วย เพราะยังไม่ได้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ ถึงบรรจุแล้วก็ยังอยู่ กฎหมายต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีการเสนอญัตติซ้อนญัตติ
ส่วนจำเป็นต้องเร่งรีบบรรจุวาระหรือไม่ นายชัย กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ เพราะขณะนี้ยังไม่ได้เปิดสมัยประชุม และยังไม่รู้ว่าจะเปิดประชุมสมัยวิสามัญเมื่อใด ตราบใดที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปิดประชุมเราบอกไม่ได้ เมื่อเปิดแล้วก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการ ไม่จำเป็นต้องรอให้ทำประชามติก่อน การแก้ไขกฎหมายต้องใช้เวลา ส่วนหากประชาชนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ส.ก็ต้องฟังเสียงประชาชน และคงไม่ยกมือผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแน่
ต่อข้อถามว่า เมื่อไม่ชะลอนำญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม แสดงให้เห็นว่าฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารมีความเห็นขัดกันหรือไม่ นายชัย กล่าวว่า ไม่มี นายกรัฐมนตรีเคยบอกว่า สถาบันทั้ง 3 แยกกันทำหน้าที่ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย โดยการเสนอให้ทำประชามติของนายกรัฐมนตรีไม่ใช่การคิดนอกลู่นอกทาง แต่เป็นการเสนอตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวเป็นคนกลางคงให้ความเห็นในเรื่องนี้ไม่ได้
ด้าน นพ.เหวง กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการทำประชามติเพราะจะทำให้ยุติความรุนแรง ทั้งนี้ หากมีการทำประชามติ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยควรยุติการเคลื่อนไหว หยุดความรุนแรง หยุดดึงฟ้าต่ำ หยุดเอาสถาบันมาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการเคลื่อนไหว ทั้งนี้ หากความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญกลุ่มตนก็พร้อมจะหยุดการเคลื่อนไหวต่างๆ เช่นกัน เพราะเราเคารพการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่