นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคประชาธิปัตย์จะมีการประชุมในวันที่ 22 พ.ค. เพื่อดูรายละเอียดว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ส.รัฐบาลเป็นอย่างไร ก่อนจะกำหนดท่าทีของพรรคต่อไป ตราบใดที่เป็นการแก้ไขเพื่อตัวเองเราก็ไม่เห็นด้วย และอาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในสังคม เบื้องต้นพรรคประชาธิปัตย์อาจมีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเข้าประกบ ส่วนแนว ความคิดที่จะไม่ร่วมสังฆกรรมกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง แต่หากไม่เข้าไปร่วมพิจารณาหรือไม่เข้าไปแปรญัตติเลย จะเท่ากับเป็นการให้การพิจารณาผ่านไปรวดเร็วโดยไม่มีความรอบคอบ ส่วนตัวรู้สึกว่าเราต้องทำหน้าที่ในการคัดค้าน อย่างน้อยก็มีท่าทีของ ส.ว. และ ส.ส.พรรคพลังประชาชนบางส่วนที่รับฟังข้อเสนอแนะบางประเด็นจากพรรคประชาธิปัตย์ เหมือนอย่างที่ก่อนหน้านี้มีคนมาบอกว่าอย่างไรเขาก็จะแก้ไข 2-3 มาตราให้เสร็จก่อนปิดสมัยประชุมรัฐสภา ตนก็บอกว่ามันไม่แน่เสมอไป เพราะพรรคการเมืองต้องฟังเสียงของสังคมด้วย ในที่สุดการแก้ไขก็ไม่เกิดขึ้นในการประชุมสมัยสามัญ
แฉตีสองหน้าหวังลดแรงต้าน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรค ประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่นายกฯของบทำประชามติว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะที่ลูกพรรคพลังประชาชนก็ไปยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตรงนี้ทำให้มองได้ว่าที่สุดแล้วเป็นปาหี่ตีสองหน้าตบตาประชาชนหรือเปล่า เพราะการที่ไปถามประชาชนหลังจากที่ยื่นร่างแก้ไขแล้ว ทำให้มองเห็นชัดว่าจริงๆแล้วอยากฟังความเห็นของประชาชนหรือไม่ หรือเป็นแค่เกมการเมืองที่จะลดกระแสความไม่เห็นด้วยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าสมมติว่านายกฯต้องการจะถามประชาชนก่อน ก็ควรบอกให้ลูกพรรคถอนร่างออกมา สำหรับตัวร่างที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชนยื่นไปนั้น เป้าหมายอยู่ที่มาตรา 237 และ มาตรา 309 เพื่อช่วยเหลือคนบางคนให้พ้นจากคดีของ คตส. ซึ่งยังมีอยู่บางมาตราที่ระบุว่า ประกาศของคปค.ที่ขัดกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอเข้าไปใหม่ถือเป็นการบังคับใช้ไม่ได้ ตรงนี้ถือเป็นการมัดตราสัง คตส. ป.ป.ช. และ กกต.ชุดปัจจุบัน เพราะองค์กรเหล่านี้เกิดจากคำสั่งของ คปค. ถ้าใช้บังคับไม่ได้ก็แปลว่าถึงที่สุดแล้วต้องยกเลิกทั้งหมด จึงอยากให้ประชาชนติดตามและรู้เท่าทัน
คตส.แนะเอาเงินช่วยการศึกษาดีกว่า
นายอุดม เฟื่องฟุ้ง กรรมการ คตส. กล่าวถึงกรณีที่นายกฯจะของบประมาณ 2,000 ล้านบาท ทำประชามติรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้คนไทยเดือดร้อนเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ จึงควรใช้เงินเพื่อเรื่องปากท้องชาวบ้าน มากกว่าเรื่องการเมือง การทำประชามติไม่ใช่ใช้เงินแค่ 20-30 ล้านบาท แต่ใช้เป็นพันล้าน ถ้าจะให้ดีรัฐบาลควรจะนำเงิน 2,000 พันล้านบาท ไปช่วยนักศึกษาที่สอบติดมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 2 แสนคน เป็นค่าทุนการศึกษา เชื่อว่าน่าจะใช้แค่เพียง 1 พันล้านบาท เหลืออีก 1 พันล้านบาท อาจนำไปตั้งเป็นกองทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียน จะเป็นประโยชน์มากกว่านำไปใช้เพื่อการเมือง
พันธมิตรฯเตรียมจัดชุมนุมใหญ่
ขณะเดียวกัน ที่บ้านพระอาทิตย์ 5 แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข ได้ประชุมหารือประเมินสถานการณ์ทางการเมือง และวิเคราะห์ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ซีกรัฐบาล จากนั้น นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรฯ แถลงว่า ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้จัดชุมนุมใหญ่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกผิดระบอบทักษิณ และรณรงค์ล่ารายชื่อถอดถอน ส.ส.ที่ลงชื่อสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนรายละเอียดการดำเนินการจะแถลงให้ทราบอีกครั้งในวันที่ 22 พ.ค. เนื่องจากต้องขอเวลาศึกษาวิเคราะห์ตรวจสอบรายละเอียดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 1 วัน รวมทั้งต้องประเมินสถานการณ์ทางการเมืองให้รอบคอบ เพื่อกำหนดแนวทางมาตรการคุ้มครองประชาชนที่ออกมาร่วมชุมนุม ไม่ให้ถูกคุกคามและถูก ทำร้ายร่างกาย ส่วนกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เตรียมของบประมาณ 2,000 ล้านบาทเพื่อทำประชามติในเดือน ก.ค.นั้น ถือว่าเป็นการทำประชามติหลังจากมีการยื่นญัตติไปแล้ว จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขที่กลุ่มพันธมิตรฯเคยเรียกร้อง ดังนั้น จะใช้สิทธิตาม กฎหมายชุมนุมเคลื่อนไหวคัดค้านให้ถึงที่สุด
ย้ำปมฟอกผิดคดีของ “ทักษิณ”
นายสุริยะใสกล่าวอีกว่า ในเบื้องต้นแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯประเมินว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชาชนเป็นการทำรัฐประหารเงียบผ่านระบบรัฐสภา นำไปสู่การยุบและยกเลิก ทำให้เกิดการฟอกผิดคดีที่เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ดังเห็นได้ชัดในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 14 จะส่งผลให้องค์กรต่างๆ อาทิ คตส. กกต. จะถูกยุบและยกเลิก นายสุริยะใสยังได้กล่าวถึงข้อเรียกร้องขององคมนตรี และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหยุดพูด หรือนำสถาบันเบื้องสูงมาข้องเกี่ยวกับการเมืองว่า เรื่องนี้คงร้องขอกันไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาทั้งรัฐบาลและกองทัพปล่อยปละละเลย ไม่ได้ทำหน้าที่ในป้องปรามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งคัด เพื่อไม่ให้มีกล่าวร้ายพาดพิงให้สถาบันเสื่อมเสีย ปล่อยให้นำเสนอผ่านเว็บไซต์ ซีดี และใบปลิว จนสถานการณ์บานปลายและลามปามไปมาก แทนที่จะป้องปรามคนที่ออกมาโจมตีสถาบัน กลับมาเรียกร้องให้ทุกคนโดยเฉพาะฝ่ายพสกนิกรผู้ที่จงรักภักดีหยุดพูด คงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก
“ประชา” ลั่นจัดม็อบตามประกบ
ด้านนายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชาชน ในฐานะแกนนำกลุ่มมหาประชาชนร่วมพิทักษ์ประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์ว่า หากกลุ่มพันธมิตรฯออกมาเคลื่อนไหวเมื่อใด กลุ่มมหาประชาชนร่วมพิทักษ์ประชาธิปไตยก็จำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน จะไม่ยอมให้กลุ่มพันธมิตรฯเอาการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาเป็นเงื่อนไขนำไปสู่การปฏิวัติ เพราะกระบวนการนี้ควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน นายกฯก็ระบุแล้วว่า จะทำประชามติขอความเห็นจากประชาชน อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของเราจะยังคงเป็นไปในรูปแบบสันติวิธี หลีกเลี่ยงการปะทะ แต่ถ้ากลุ่มพันธมิตรฯมาชุมนุมกันที่ท้องสนามหลวง เราก็จะไปที่สนามหลวงเหมือนกัน อาจต้องแบ่งซีกกันคนละครึ่ง จะไม่ยอมให้มีการเคลื่อนไหวฝ่ายเดียว ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและฝ่ายรักษาความมั่นคงที่จะเข้ามาควบคุมดูแลมวลชน