ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
อำนาจหลักในการบริหารปกครองประเทศ แบ่งเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ
ฝ่ายนิติบัญญัติ ก็คือ รัฐสภา ที่ประกอบด้วย สภาผู้แทน ราษฎรและวุฒิสภา
มีหน้าที่ในการพิจารณาออกกฎหมายเพื่อใช้ในการ บริหารแก้ไขปัญหาของประเทศและประชาชน และมีหน้าที่ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล
โดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร ถือว่าเป็นตัวแทนอำนาจที่มาจากประชาชนโดยตรง เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. มาจากการเลือกตั้ง
ซึ่งก็ชัดเจนว่า รัฐบาลผสม 6 พรรค ที่ประกอบด้วย พรรค พลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคประชาราช มีเสียง ส.ส.ในสภาฯท่วมท้น 316 เสียง จาก ส.ส.ทั้งสภาฯ 480 คน
ล่าสุดแม้จะมี ส.ส.พรรคพลังประชาชนต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ เพราะโดนคดีใบเหลืองใบแดงจำนวน 7 คน
แต่ก็ไม่มีปัญหาในการทำงานด้านนิติบัญญัติ
เพราะ ส.ส.ซีกรัฐบาลยังเหลืออีก 309 เสียง เกินครึ่งของสภาฯอยู่ถึง 69 เสียง ในขณะที่ฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ มี ส.ส.อยู่แค่ 164 เสียง
ทำอะไรรัฐบาลไม่ได้อยู่แล้ว
โหวตเมื่อไหร่รัฐบาลก็ชนะ
อย่างไรก็ตาม เมื่อโฟกัสไปที่การทำงานของสภาผู้แทน ราษฎร ตั้งแต่เริ่มเปิดสมัยประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 21 มกราคม มาจนถึงวันนี้ ที่กำลังจะถึงกำหนดปิดสมัยประชุมรัฐสภาในวันที่ 20 พฤษภาคม
ห้วงเวลาผ่านมา 4 เดือนเต็ม
ปรากฏว่า สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ยังไม่มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอันออกมาให้สังคมได้เห็นกันเลย
โดยเฉพาะการเสนอร่างกฎหมายที่สำคัญจำเป็นในการแก้ไขปัญหาของประเทศ และการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนของฝ่ายรัฐบาล
แทบไม่มีเลย
บทบาทการทำหน้าที่ส่วนใหญ่ เป็นเรื่องของการตั้งกระทู้ถามของ ส.ส.จากซีกฝ่ายค้าน และการเสนอญัตติต่างๆของ ส.ส.จากทั้ง 2 ฝ่าย
อภิปรายกันไปแบบน้ำท่วมทุ่ง
หาบทสรุปอะไรเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้
ขณะที่การจัดโครงสร้างการทำงานของสภาฯ ในการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญชุดต่างๆ ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร และติดตามการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน
ผ่านมา 4 เดือนแล้ว ยังจัดตั้งกันไม่ได้
เพราะเกิดปัญหาแย่งชิงเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการ ทั้งการแย่งชิงกันเองภายในพรรคแกนนำรัฐบาล และการช่วงชิงกันระหว่าง ส.ส.รัฐบาลกับ ส.ส.ฝ่ายค้าน
หมดไปหนึ่งสมัยประชุม มีแต่ความว่างเปล่า
ขณะเดียวกัน ในช่วง 4 เดือนของสภาฯชุดนี้ ก็ยังมีเรื่องราวฉาวโฉ่ที่กระทบต่อภาพพจน์และเกียรติภูมิของสภาผู้แทนราษฎร
โดยเฉพาะปัญหาทะเลาะวิวาทระหว่างนายการุณ โหสกุล ส.ส. กทม. พรรคพลังประชาชน กับนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.ระบบสัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์
แสดงพฤติกรรมเถื่อน โดดถีบ ด่าทอ ในสภาฯ
แม้ล่าสุด คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้รายงานผลการสอบสวนต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ระบุชัด
มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นายการุณได้ทำร้ายร่างกายนายสมเกียรติจริง และมีการกล่าวถ้อยคำที่ไม่สุภาพอย่างยิ่งจริง
แต่ก็ไม่มีบทลงโทษหรือมาตรการใดๆกับ ส.ส.ที่แสดงพฤติกรรมเถื่อน
แถมยังมีความพยายามจาก ส.ส.ในพรรคเดียวกันออกมาปกป้อง ในทำนองอยากให้เรื่องนี้จบๆไป
เหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น
เหนืออื่นใด ในช่วง 4 เดือนของสภาฯชุดนี้ ยังมีปรากฏการณ์ที่สะเทือนต่อภาพพจน์ของฝ่ายนิติบัญญัติ
เมื่อนายยงยุทธ ติยะไพรัช โดนคดีใบแดง ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานสภาฯ ไปสู้คดีทุจริตเลือกตั้ง
เปิดช่องให้มีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่
ซึ่งก็ปรากฏว่า นายชัย ชิดชอบ ส.ส.ระบบสัดส่วน พรรคพลังประชาชน พ่อของนายเนวิน ชิดชอบ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย
ได้รับเลือกจากที่ประชุมสภาฯให้เข้ามาทำหน้าที่ ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ ควบตำแหน่งประธานรัฐสภา
แต่ผลจากการลงคะแนนโหวตเลือกประธานสภาฯครั้งนี้ ก็มีร่องรอยให้เห็นถึงความไม่พอใจของ ส.ส.ในพรรคพลังประชาชนเอง และพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค
เพราะคะแนนเสียงที่ออกมา ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ส.ส.บางคนไม่มาร่วมโหวต ส.ส. 12 คน งดออกเสียง และมี ส.ส.ซีกรัฐบาลอีก 2 คน ลงคะแนนให้กับผู้ชิงตำแหน่งของฝ่ายค้าน
เหมือนเป็นการไม่ยอมรับคุณสมบัติและความเหมาะสมในการขึ้นเป็นประธานสภาฯของนายชัย
กลายเป็นความคุกรุ่นเล็กๆ ภายในพรรคร่วมรัฐบาล ด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อการโหวตในสภาฯตัดสินกันที่เกณฑ์ เสียงข้างมาก นายชัยก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติสมใจนึก
ซึ่งก็เป็นการสะท้อนและตอกย้ำว่า
ใครมีเสียงข้างมาก ก็สามารถหักดิบเอาอะไรก็ได้
ไม่เว้นแม้แต่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดของประเทศ
ทั้งนี้ จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วง 4 เดือนของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ทำให้สังคมมองว่า สภาฯไม่มีผลงาน
มีภาพออกมาในโทนขี้ริ้วขี้เหร่ ขาดความสง่างาม
โดยเฉพาะในเรื่องตัวบุคคลที่ก้าวเข้ามาทำหน้าที่ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภาในห้วง 4 เดือน ที่เริ่มต้นจากนายยงยุทธ ผ่านมาถึงนายชัย
ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ทำไมถึงได้เกิดเหตุการณ์ อย่างนี้
“ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ” ขอชี้ว่า การที่พรรคพลังประชาชน ส่งนายยงยุทธเข้ามาเป็นประธานสภาฯในช่วงเริ่มต้นของสภาฯชุดนี้
ก็เพราะเขาเป็นขุนพลคู่ใจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
เป็นบุคคลที่ “นายใหญ่” ไว้เนื้อเชื่อใจในความภักดี
ที่สำคัญ นายยงยุทธไม่ได้เป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ไม่ติดล็อกบ้านเลขที่ 111
จึงถูกส่งเข้ามาเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อคุมเกมสำคัญที่เป็นยุทธศาสตร์หลักของ “ทักษิณ” ในรัฐสภา
นั่นก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่บังเอิญการทำหน้าที่ของนายยงยุทธต้องสะดุดเพราะเจอคดีใบแดง แม้คดียังไม่สิ้นสุด แต่เมื่อศาลฎีการับฟ้องก็ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว
ส่งผลให้การทำหน้าที่ของนายยงยุทธในการคุมเกมยุทธศาสตร์ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องสะดุดไปด้วย
ในที่สุดจึงต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานสภาฯ เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกประธานสภาฯคนใหม่ เข้ามารับไม้ต่อในการคุมเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ
สำหรับนายชัยที่ก้าวเข้ามาเป็นประธานสภาฯคนใหม่ ก็ไม่ใช่คนอื่นไกล เป็นพ่อของนายเนวิน ขุนศึกมือขวาของ “ทักษิณ”
แต่เมื่อนายเนวินติดล็อกบ้านเลขที่ 111 ต้องอยู่นอกวงจร สภาฯ จึงส่งพ่อเข้ามารับหน้าที่สำคัญนี้แทน
ทีมของเราขอบอกว่า สถานการณ์มาถึงวันนี้ ชัดเจนว่า
ยุทธศาสตร์หลักของ “ทักษิณ” ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อล้างคดีและทวงขุมทรัพย์คืน ต้องเดินหน้าต่อไป
เพราะในช่วงปีกว่าที่ผ่านมา เขาถือว่า เขาโดนกระทำ
มาถึงวันนี้ เมื่อมีอำนาจเสียงข้างมาก คนในเครือข่ายได้อำนาจรัฐกลับคืนมา
จึงต้องใช้วิธีแก้ไขกฎหมายสูงสุด เพื่อปลดล็อกทุกสิ่งทุกอย่าง
นี่คือยุทธศาสตร์เร่งด่วน ที่ต้องเร่งทำให้สำเร็จ
แต่ขณะเดียวกัน ในห้วงเวลานี้ประเทศเรากำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันพุ่งกระฉูดต่อเนื่อง ข้าวยากหมากแพง กระทบปัญหาปากท้อง ชาวบ้านเดือดร้อนไปทั่ว
ทั้งนี้ การที่ผู้ถืออำนาจรัฐและมีเสียงข้างมากในสภาฯ มองเรื่องเร่งด่วนในการแก้ปัญหาไปคนละทาง
โดยเน้นไปที่ยุทธศาสตร์แก้ไขรัฐธรรมนูญของ “นายใหญ่” เป็นหลัก
ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน เป็นเรื่องรอง
ตรงนี้แหละ คือปมเหตุที่ทำให้ไร้ผลงาน
และเป็นการบั่นทอนความศรัทธาของประชาชน
ส่วนในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แน่นอนอยู่แล้ว ใครกุมเสียงข้างมากได้ ก็สามารถหักดิบได้
แต่ก็ถือเป็นการบ้านของคน 60 ล้านคนว่า
ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์ สุจริต และการแก้ไขปัญหาโดยหลักกฎหมาย มากน้อยแค่ไหน
มีมุมมองต่อการได้มาและการใช้อำนาจของเสียงข้างมากอย่างไร
ถ้าคำนึงถึงคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์ สุจริต และหลักกฎหมาย
ก็คงต้องรู้สึกกระอักกระอ่วนกับเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้.
"ทีมการเมือง"